สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กองส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

Last updated: 30 ต.ค. 2563  |  739 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กองส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

คณะกรรมการ PPP ไฟเขียว 2 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 19,000 ล้านบาท
หนุนเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ
พร้อมเห็นชอบกฎหมายลำดับรองภายใต้ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562
รองรับการดำเนินโครงการอย่างครบถ้วน

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม 2563 ณ ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีผลการประชุมสรุปได้ดังนี้

1. คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบในหลักการของโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost จำนวน 2 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 18,961 ล้านบาท ได้แก่
1.1 โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มูลค่ารวม 16,096 ล้านบาท ในรูปแบบการให้เอกชนบริหารจัดการโดยให้สัมปทานโดย กนอ. จะมอบสิทธิแก่เอกชนเข้าใช้ทรัพย์สินเดิมของโครงการและดำเนินโครงการ ทั้งนี้ เอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบการลงทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด โดยภาครัฐไม่มีภาระการลงทุนในโครงการ ตลอดระยะเวลาร่วมลงทุน 30 ปี เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการของผู้ประกอบการในพื้นที่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง
1.2 โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ของกรมการขนส่งทางบกมูลค่ารวม 2,865 ล้านบาท โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนค่าอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้า อุปกรณ์สำนักงานและส่วนประกอบ และงานระบบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ รวมถึง O&M ทั้งหมด ตลอดระยะเวลาโครงการ 15 ปี เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างประเทศบริเวณพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน รวมถึงเชื่อมต่อระบบการขนส่งจากทางถนนไปสู่ทางรถไฟ โดยให้ไปพิจารณาผลตอบแทนของรัฐอย่างรอบคอบในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน รวมถึงการขอรับสิทธิประโยชน์ BOI
2. คณะกรรมการ PPP เห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองและแนวทางปฏิบัติภายใต้ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ในเรื่องหลักเกณฑ์ในการพิจารณาใช้การคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูล รวมถึงแนวทางการพิจารณาความสำคัญของโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 - 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกฎหมายลำดับรองที่ใช้สำหรับการจัดทำและดำเนินโครงการครบถ้วน
3. คณะกรรมการ PPP ยังได้วินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ตามมาตรา 20 (9) ตามที่มีหน่วยงานหารือในกรณีปัญหาข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
กองส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้