การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

Last updated: 27 ม.ค. 2564  |  523 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

รมว.ทส. ชี้ กฟผ.แม่เมาะ คุมการปล่อยมลสารได้ตามมาตรฐาน
พบสาเหตุหลัก PM2.5 เกิดจากการเผาป่า

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะฯ เข้าตรวจติดตามการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการพื้นที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยมีนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นางราณี โฆษิตวานิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. ผู้บริหาร กฟผ. หัวหน้าส่วนราชการ จ.ลำปาง ให้การต้อนรับและรายงานสรุปภาพรวมการดำเนินงานและการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติของ จ.ลำปาง ตลอดจนการดำเนินงานของ กฟผ.แม่เมาะ ณ อาคารประชาสัมพันธ์แม่เมาะ กฟผ.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง นอกจากนี้คณะฯ ได้เดินทางไปสำรวจสภาพและความพร้อมของอุปกรณ์สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษในพื้นที่ด้วย

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าชมสภาพจริงของ กฟผ.แม่เมาะ แม้พื้นที่ในการดูแลของ กฟผ.แม่เมาะ จะมีอาณาเขตค่อนข้างใหญ่ แต่ก็น่ายินดีที่ กฟผ. ได้กำหนดมาตรการการควบคุมการปล่อยมลสารให้เป็นไปตามมาตรฐาน สำหรับเรื่องปัญหาหมอกควันได้มอบนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลตรวจตราพื้นที่ให้ดี โดยเฉพาะในจุดที่อาจเกิดไฟป่าได้ง่ายจะต้องมีการลาดตระเวนจุดที่มักเกิดการลักลอบเผาป่า ซึ่งกระทรวงทรัพยากรฯ ได้มีมาตรการเข้มงวดในการยกเลิกสัมปทานที่ทำการเผาป่าเพื่อรุกล้ำพื้นที่ อีกทั้งยังได้กำหนดนโยบาย ชิงเก็บ ลดเผา เพื่อหวังช่วยลดปัญหาฝุ่นควันด้วย
ด้าน นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาในทุกช่วงของต้นปี พื้นที่ภาคเหนือจะประสบปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควันมาโดยตลอด ซึ่ง จ.ลำปาง เป็นจังหวัดในลำดับต้น ๆ ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่ถูกขนาบด้วยหุบเขาขนาดใหญ่ ซึ่งในอดีต จ.ลำปาง มีค่าจุดความร้อน (Hot Spot) อยู่ในเกณฑ์ที่สูง จึงได้กำหนดเป้าหมายในการลดจุด Hot Spot โดยจังหวัดกำหนดนโยบายควบคุมอย่างเข้มงวด จนทำให้ในปี 2563 สามารถลดปัญหาด้านฝุ่นละอองลงได้ถึง 64% และลดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ได้ 24%

ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ กฟผ.แม่เมาะ เป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่มีทั้งการทำเหมืองและโรงไฟฟ้า จึงอาจถูกเข้าใจคลาดเคลื่อนจากสาธารณชนว่าเป็นศูนย์กลางในการปล่อยฝุ่นควันของภาคเหนือ ซึ่งข้อเท็จจริงพบว่า กฟผ.แม่เมาะ ควบคุมค่าของฝุ่นควันที่ออกจากโรงไฟฟ้าได้ดีกว่าที่เกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนด และ จากการศึกษาวิจัยร่วมกับทีมงานยังพบว่า ปัจจัยหลักของฝุ่นละอองเกิดจากการเผาไหม้ป่า

นางราณี โฆษิตวานิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.แม่เมาะ มีการควบคุมและเฝ้าระวังมลภาวะจากการทำเหมืองและโรงไฟฟ้า ไม่ให้เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี ช่วงเดือนมกราคม – มีนาคมของทุกปี พื้นที่บริเวณภาคเหนือมักมีสภาพอากาศที่แห้งแล้งจึงเกิดไฟป่าได้ง่ายและมีการเผาเศษซากวัชพืชทางการเกษตรในพื้นที่โล่งจนทำให้เกิดปัญหาหมอกควัน กฟผ. จึงมีมาตรการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการรับมือและปฏิบัติตัวให้เหมาะกับสถานการณ์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้