Last updated: 24 ต.ค. 2563 | 1701 จำนวนผู้เข้าชม |
ปตท. ชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชน
.
ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมา ที่เกิดเหตุก๊าซธรรมชาติรั่วและเกิดเพลิงไหม้ บริเวณตรงข้ามวัดเปร็งราษฎร์บำรุง ถนนเทพราช-ลาดกระบัง ต.คลองสวน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ หลังการเกิดเหตุการณ์ขึ้น แม้เจ้าหน้าที่ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เข้าสู่พื้นที่เพื่อระงับเหตุ และสามารถควบคุมสถานการณ์เพลิงไหม้ได้ รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ในพื้นที่วัดเปร็งราษฎร์บำรุง และเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2563 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุ เร่งเยียวยา ให้กำลังใจ และมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ
.
แต่ยังมีคำถามหลายข้อที่ ปตท. จะต้องชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งเรื่องความปลอดภัย เรื่องความรับผิดชอบของ ปตท. และเรื่องการป้องกันเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
.
คำถามแรก เป็นเรื่องความเสียหาย ผลกระทบที่เกิดขึ้น และมาตรการในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่ามีผู้เสียชีวิต 3 ราย และผู้บาดเจ็บ 66 ราย โดยกลับบ้านแล้ว 37 ราย ยังคงรักษาตัวที่โรงพยาบาล 25 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีอาการสาหัส 4 ราย ทั้งหมดนี้ ปตท. จะรับผิดชอบต่อความเสียหายและเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บอย่างดีที่สุด
.
ส่วนการรับผิดชอบต่อผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ แบ่งเป็น สำหรับผู้เสียชีวิต เบื้องต้น ปตท. มอบเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต รายละ 100,000 บาท
.
สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ปตท. พร้อมดูแลค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด โดย บริษัท ทิพยประกันภัย จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้บาดเจ็บทุกราย และทีมมวลชนสัมพันธ์ ปตท. ได้เข้าเยี่ยมและมอบกระเช้าให้ผู้บาดเจ็บที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทุกแห่ง และพร้อมช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่
.
ส่วนความเสียหายทางทรัพย์สิน ปตท. พร้อมรับผิดชอบต่อความเสียหายอย่างเต็มที่ โดยอยู่ระหว่างประเมินมูลค่าความเสียหาย ซึ่งประกอบด้วย อาคาร บ้านเรือน จำนวน 34 หลังคาเรือน รถยนต์ 62 คัน รถจักรยานยนต์ 59 คัน และร้านค้า 7 แห่ง
.
ในด้านการรับผิดชอบต่อผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบบ้านเรือนเสียหาย ปตท. ได้จัดเตรียมที่พักชั่วคราว 1 คืน ณ วัดเปร็งราษฎร์บำรุง พร้อมอาหาร น้ำดื่ม และเครื่องใช้ที่จำเป็นแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกครัวเรือน และในระหว่างการซ่อมแซมบ้านเรือน ปตท. จะจัดหาที่พักชั่วคราวให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ปตท. มอบถุงยังชีพ 100 ถุง และ ผ้าห่ม 100 ผืน นอกจากนี้ ทีมงาน ปตท. จะเข้าพื้นที่เพื่อฟื้นฟูความเสียหายและสภาพแวดล้อมในชุมชนให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
.
สำหรับผลกระทบผู้ใช้ก๊าซฯ ปตท. มีความจำเป็นต้องปิดสถานีบริการ NGV จำนวน 1 สถานี คือ สถานีบริการ NGV ปตท. เอส.วี.โพรเกรสซีฟ สาขา บางปะกง ซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ไขเพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด
.
คำถามต่อมา คือ การบำรุงรักษาท่อส่งก๊าซฯ 36” พานทอง-วังน้อย ปตท. มีมาตรการตรวจสอบบำรุงรักษาระบบท่อส่งก๊าซฯ ให้มีความแข็งแรงปลอดภัยรองรับแรงดันก๊าซฯ ได้อย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานสากล ASME B31.8 ซึ่งมีการตรวจตามมาตรฐานทั้งรายสัปดาห์ รายเดือน และรายปีครบถ้วนตามแผนการบำรุงรักษา โดยมีการใช้ Intelligent PIG ตรวจหาการผุกร่อนทั้งภายในและภายนอกท่อ และมีการตรวจสอบความสมบูรณ์ของระบบป้องกันการผุกร่อน เป็นประจำทุกปี ซึ่งผลการตรวจสอบท่อส่งก๊าซฯ 36” ล่าสุด พบว่าท่อส่งก๊าซฯ ดังกล่าวไม่พบสิ่งผิดปกติ
.
คำถามสาเหตุของการเกิดเหตุ ปตท. ชี้แจงว่า ขณะนี้สาเหตุที่แท้จริงอยู่ระหว่างการตรวจสอบโดย ปตท. ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอก และจะรายงานความคืบหน้าให้ทราบต่อไป
.
คำถามที่ว่า ท่อที่เกิดเหตุ เป็นท่อเส้นที่เท่าไร ใช้งานมาแล้วกี่ปี ปตท.ได้ชี้แจงในเรื่องนี้ว่า ท่อที่เกิดเหตุเป็นท่อเส้นที่ 2 ช่วงบางปะกง-วังน้อย เริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 2539 อายุการใช้งานปัจจุบัน 24 ปี
.
ยังมีคำถามเกี่ยวกับมาตรการเสริมต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ปตท. ได้ชี้แจงว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ปตท. ได้ดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างรัดกุม จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ปตท. จะเร่งดำเนินการหาสาเหตุ และพิจารณามาตรการเสริมเพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำต่อไป
.
ส่วนคำถามที่ว่า ก๊าซฯ นี้ติดไฟได้อย่างไร ปตท. ก็ได้ชี้แจงว่า การติดไฟ เกิดได้จาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ เชื้อเพลิง อากาศ และความร้อน โดยในครั้งนี้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และได้รับความร้อนจากประกายไฟของสายไฟฟ้า ประกอบกับอากาศ จึงติดไฟ ส่วนการระเบิด เนื่องจากเชื้อเพลิงมีปริมาณมาก จึงเกิดการลุกไหม้ ทำให้เกิดการระเบิดจากการติดไฟในครั้งเดียว
.
นอกจากนี้ มีคำถามว่า ปตท. มีการควบคุมการเข้ามาก่อสร้างในเขตของท่อก๊าซฯ ได้อย่างไร ซึ่งมีโอกาสเป็นสาเหตุของความเสียหายในครั้งนี้ เรื่องนี้นั้น ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 พื้นที่แนวท่อส่งก๊าซฯ เป็นเขตระบบโครงข่ายพลังงาน ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) หากผู้ใดจะเข้ามาดำเนินการขุด เจาะ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายต้องขออนุญาตไปที่ สำนักงาน กกพ. หรือขอคำแนะนำเบื้องต้นจาก ปตท. ในพื้นที่
.
ทั้งนี้ ปตท. ยังมีการสำรวจพื้นที่วางท่อส่งก๊าซฯ (Pipeline Patrolling) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน ASME B31.8 เป็นประจำทุกสัปดาห์
.
ส่วนกรณีที่มีการดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับอนุญาตแต่มีการฝ่าฝืนการอนุญาตหรือเงื่อนไขประกอบการอนุญาต ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้
.
ข้อมูลเพิ่มเติม สำหรับระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ มีความยาวประมาณ 4,252 กิโลเมตร ประกอบด้วย ระบบท่อส่งก๊าซฯ บนบก ความยาวประมาณ 2,119 กิโลเมตร และท่อในทะเล ความยาวประมาณ 2,133 กิโลเมตร (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2562) โดยระบบท่อส่งก๊าซฯ จะเชื่อมต่อแหล่งก๊าซฯ ต่าง ๆ ในอ่าวไทย และท่อส่งก๊าซฯ จากแหล่งยาดานา เยตากุน และซอติก้า ในเมียนมาร์ เชื่อต่อกับผู้ผลิตไฟฟ้า โรงแยกก๊าซฯ และลูกค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ
.
โดยมีระบบการบริหารจัดการความมั่นคงของท่อ ซึ่งนำมาใช้ในท่อส่งก๊าซฯ ประธานของ ปตท. เพื่อให้ท่อมีความปลอดภัย แข็งแรง และมั่นคงต่อการใช้งาน ตามที่ได้ถูกออกแบบไว้ตามมาตรฐานสากล ASME B31.8 ทำให้สามารถส่งก๊าซฯ ได้อย่างต่อเนื่องตามความต้องการของลูกค้า อายุท่อมีการใช้งานที่ยาวนาน และสามารถส่งก๊าซฯ ได้เต็มประสิทธิภาพ
.
ทั้งนี้ ท่อส่งก๊าซฯ ใช้วัสดุที่เป็นท่อเหล็กกล้า ที่มีความแข็งแรงสูงผลิตจากโรงงานที่ได้รับมาตรฐานสากล และผ่านการทดสอบก่อนส่งมอบ ท่อส่งก๊าซฯ ต้องมีการเคลือบผิวภายนอกท่อ เพื่อป้องกันการผูกร่อน และใช้ระบบป้องกันการผุกร่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งออกแบบให้มีอายุการใช้งาน 40 ปี
.
ระบบควบคุมการทำงานระบบท่อฯ นั้น ระบบการส่งก๊าซฯ จะถูกควบคุมการทำงานและตรวจสอบโดยผ่านระบบควบคุมอัตโนมัติ หรือระบบ SCADA ที่ศูนย์ปฏิบัติการชลรี มีพนักงานควบคุมตลอด 24 ชั่วโมง สถานีควบคุมก๊าซฯ ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลความดัน อุณหภูมิ และปริมาณการไหลของก๊าซฯ เป็นระยะตลอดแนวท่อ หากมีเหตุผิดปกติ อุปกรณ์เปิด-ปิดวาลว์จะทำงานโดยการสั่งการจากศูนย์ปฏิบัติการโดยตรงผ่านระบบสื่อสารหลัก เช่น ระบบไมโครเวฟ ระบบใยแก้วนำแสง ระบบวิทยุ และโทรศัพท์ ซึ่งจะเชื่อมโยงทุกจุดตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีระบบดาวเทียมเป็นระบบสำรอง
.
การตรวจสอบท่อ จะใช้รถยนต์ตรวจการณ์ตรวจสอบตามแนวท่อ หรือเดินตรวจตามแนวท่อ เพื่อสังเกตดูร่องรอยของสภาพแวดล้อม และมีการตรวจสอบสภาพภายในท่อด้วยอุปกรณ์กระสวยอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Intelligent PIG ใส่เข้าไปในท่อ และวิ่งตรวจสอบภายในท่อตลอดแนว พร้อมบันทึกข้อมูลและนำมาวิเคราะห์ผล สามารถระบุตำแหน่งพิกัดเฉพาะจุดที่คาดว่าจะเสียหายก่อนล่วงหน้าและจำเป็นต้องซ่อมแซมได้อย่างแม่นยำ ซึ่งดำเนินการทุก ๆ 5 ปี
21 มี.ค. 2568
21 มี.ค. 2568
24 มี.ค. 2568
24 มี.ค. 2568