Last updated: 16 มี.ค. 2565 | 1030 จำนวนผู้เข้าชม |
BPP เดินหน้าศึกษา Energy Storage, Energy Trading และ CCUS
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า BPP เร่งเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายกำลังผลิต 5,300 เมกะวัตต์ ในอีก 4 ปีข้างหน้า หรือปี 2568 แบ่งเป็น เชื้อเพลิงหลัก 4,500 เมกะวัตต์ และพลังงานหมุนเวียน 800 เมกะวัตต์ โดยเน้นการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีคุณภาพ ที่สร้างผลตอบแทนที่ดี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามกลยุทธ์ Greener & Smarter มุ่งสร้างการเติบโตในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานผ่านการลงทุนใน บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด โดยลงทุนในประเทศที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง อาทิ เวียดนาม ล่าสุดได้ลงทุนในธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป โดยได้ลงนามในสัญญาจองซื้อหุ้น 49.05% ของ Solar Esco Joint Stock Company ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของเวียดนาม ที่ให้บริการแพลตฟอร์มโซลาร์รูฟท็อปแบบครบวงจร พร้อมมองหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ในโรงไฟฟ้า High Efficiency, Low Emissions (HELE) ในประเทศที่มีศักยภาพ รวมทั้งเดินหน้าการขยายธุรกิจในสหรัฐอเมริกา จากระบบนิเวศของกลุ่มบ้านปู (Banpu Ecosystem) หาโอกาสการลงทุนตลอดห่วงโซ่คุณค่าพลังงาน โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดเสรี (Energy Trading) พร้อมศึกษาการผสานห่วงโซ่อุปทานในการนำก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบาร์เนตต์ (Barnett) ของบ้านปูมาใช้ในโรงไฟฟ้า Temple I เพื่อประโยชน์ในการควบคุมต้นทุนและเพิ่มกำไรจากการดำเนินงาน
BPP อยู่ระหว่างการศึกษาการขยายธุรกิจ Energy Storage Systems (ESS) ที่ตั้งเป้าเติบโตเป็น 3 กิกะวัตต์ชั่วโมง ในปี 2568 จาก 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง ในปัจจุบัน ผ่านการลงทุนใน บริษัท Durapower ในสิงคโปร์ สัดส่วน 47.7% โดยกำลังศึกษาการลงทุนในหลายประเทศ และทดลองนำแบตเตอรี่มาใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกากำลังศึกษาในระยะยาว หากต้องมีการประมูลขายไฟฟ้า ก็ต้องมีแบตเตอรี่มาเสริมให้โรงไฟฟ้ามีไฟฟ้าขายได้ 24 ชั่วโมง โดยนำแบตเตอรี่มากักเก็บพลังงานในช่วง Off Peak และมาขายในช่วง Peak
นอกจากนี้ กำลังศึกษา Energy Trading มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการทำในตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี อย่างประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ที่ต้องมีการประมูลขายไฟฟ้าในตลาด ซึ่งจะต้องมีทีม Trading เข้ามาช่วยตัดสินใจในการดำเนินการ และอยู่ระหว่างสร้างทีม Trading และกำลังศึกษาอยู่ในประเทศจีน และเวียดนาม ซึ่งกำลังมีการพูดคุยกันว่าจะทำในระยะยาว และยังเป็นเทรนด์ของโลกที่จะมีการซื้อขายไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ โดยปัจจุบันมีการทำ Energy Trading 712 กิกะวัตต์ชั่วโมง และจะเพิ่มเป็น 1,000 กิกะวัตต์ชั่วโมง ในปี 2568
บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาการทำโครงการ Carbon Capture Utilization Storage (CCUS) ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ของโลกที่บริษัทฯ กำลังติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ขณะนี้ยังไม่มีเทคโนโลยีที่ดี แต่เชื่อว่าในอนาคตจะเข้ามาอย่างแน่นอน
ส่วนผลการดำเนินงานปี 2564 มีรายได้ 6,784 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 3,487 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3,127 ล้านบาท ซึ่งปีที่ผ่านมา BPP สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และรักษาเสถียรภาพในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง โดยโรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทย มีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) สูงถึง 85% และ 91% ตามลำดับ ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Heat and Power: CHP) ทั้ง 3 แห่งในจีน สามารถสร้างรายได้จากปริมาณการขายไอน้ำที่เพิ่มขึ้น และยังรับรู้ผลกำไรจากโรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso IGCC) ในญี่ปุ่น และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐอเมริกา
นับตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน BPP สามารถขยายกำลังผลิตและเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าในพอร์ตธุรกิจตามสัดส่วนการลงทุนเพิ่มขึ้น 580 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวม 457 เมกะวัตต์ มาจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐอเมริกา และโรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso IGCC) ในญี่ปุ่น และกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใน 3 ประเทศ เพิ่มขึ้นรวม 123 เมกะวัตต์ จากการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่ง ในออสเตรเลีย การลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 แห่ง และธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป ในเวียดนาม และการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 แห่ง ในญี่ปุ่น
นอกจากนี้ยังเตรียม COD โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ ในไตรมาส 1 ปีนี้
ณ วันที่ 16 มีนาคม 2565 บริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้า 38 แห่ง กำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 3,242 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 36 แห่ง กำลังการผลิตรวม 3,124 แห่ง และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 91 เมกะวัตต์ ครอบคลุมประเทศไทย สปป.ลาว จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา
28 พ.ค. 2568
29 พ.ค. 2568
27 พ.ค. 2568
29 พ.ค. 2568