ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

Last updated: 25 ม.ค. 2567  |  6113 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

SCG คาดยอดขายปีนี้เติบโต 20%

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า ปี 2567 คาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน จากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น และโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (LSP) ที่เวียดนาม สามารถเดินเครื่องผลิตได้ทั้งปีจากที่เปิดเดินเครื่องเมื่อเดือนธันวาคม 2566 โดยมีการตั้งงบลงทุนไว้ 40,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงการ LSP ประมาณ 5,000 ล้านบาท และที่เหลือจะลงทุนด้านนวัตกรรมรักษ์โลก พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีความต้องการและเติบโตได้อีกมาก อีกทั้งเร่งพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) ที่เพิ่มความหลากหลาย ตอบโจทย์ลูกค้าตรงใจ ฉับไว พร้อมเร่งทรานส์ฟอร์มโครงสร้างธุรกิจตามกลยุทธ์ สร้างความคล่องตัว แข็งแกร่ง และเติบโตระยะยาว

ปี 2567 เอสซีจีทุกกลุ่มธุรกิจเร่งเครื่องสร้างการเติบโตอย่างเต็มที่ทั้งไทยและภูมิภาคอาเซียน ด้วยนวัตกรรมปูนคาร์บอนต่ำ สมาร์ทโซลูชันเพื่อการอยู่อาศัย พลาสติกรักษ์โลก บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนที่ใช้ซ้ำ รีไซเคิลได้ พลังงานสะอาดครบวงจร และนวัตกรรมเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงจากโครงการ LSP เน้นบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ หาโอกาสจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริการของไทย คาดว่าตลาดอาเซียนจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซียและเวียดนาม มุ่งสู่ผู้นำธุรกิจกรีนที่สร้างการเติบโตให้ธุรกิจพร้อมสร้างสังคม Net Zero ที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

ธุรกิจเคมิคอลส์ (SCGC) ตลาดปิโตรเคมีคาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นและอุปทานที่ลดลง โดยจะเร่งพัฒนาพลาสติกรักษ์โลก รวมทั้งสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) ให้มีสัดส่วนสูงขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาตลาดมีความต้องการมากขึ้น ส่งผลให้มียอดขายเพิ่มขึ้น 39% จากปีก่อน ซึ่งจะช่วยหนุนความสามารถการแข่งขันในภาวะตลาดฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี ล่าสุด โครงการ LSP ก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผน การเดินเครื่องจักรและทดสอบประสิทธิภาพโรงงานทั้งระบบเป็นไปได้ด้วยดี คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567

สำหรับนวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก ‘SCGC Green PolymerTM’ ในปีที่ผ่านมามียอดขายอยู่ที่ 218,000 ตัน เพิ่มขึ้น 56% จากปีก่อน โดยมุ่งสู่ Green polymer 1 ล้านตัน ในปี 2573 นอกจากนี้ ยังเร่งขยายเข้าสู่ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยนวัตกรรมพลาสติกสำหรับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์น้ำหนักเบา ช่วยประหยัดพลังงาน และร่วมมือกับ Denka ในการผลิตและจำหน่าย Acetylene Black ส่วนประกอบสำคัญสำหรับนำไฟฟ้าในการผลิตขั้วแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน แบบชาร์จไฟได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีความต้องการสูง

อย่างไรก็ตาม SCG ยังไม่มีแผนนำ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงนี้ เนื่องจากสภาพตลาดหุ้นยังไม่ค่อยดี จึงต้องจับตาดูสถานการณ์ตลาดหุ้นต่อไป เมื่อมีความพร้อมเมื่อไรก็จะนำ SCGC เข้าจดทะเบียนทันที

ธุรกิจเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ พลังงานสะอาดครบวงจร เติบโตต่อเนื่องและมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก จากความต้องการใช้พลังงานสะอาดที่มากขึ้น ตามทิศทางเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของโลก และจากจุดแข็งของธุรกิจด้านการบริการที่มีความน่าเชื่อถือ โดดเด่นด้วยระบบ Smart Grid ที่ช่วยให้การซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเข้าถึงได้สะดวกยิ่งขึ้น ปี 2566 มีกำลังการผลิตที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ รวม 450 เมกะวัตต์ ล่าสุด ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในหลายพื้นที่ เช่น กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ รวมถึงกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทและเปาโล และเตรียมขยายไปยังตลาดอาเซียน ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

ส่วนธุรกิจอื่น ๆ เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน บริหารต้นทุนพลังงานได้ดี ปี 2566 เพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนมาอยู่ที่ 40% และธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง บริหารจัดการต้นทุนด้วยการปรับใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต พร้อมทั้งพัฒนาสมาร์ทโซลูชันตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคใหม่ที่ต้องการประหยัดพลังงาน เช่น หลังคาเอสซีจี เมทัลรูฟ รุ่น คอมฟอร์ท ลอน Snap Lock นวัตกรรมหลังคาช่วยป้องกันเสียงจากภายนอกและกันความร้อน ประหยัดการใช้พลังงานภายในบ้าน และ SCG Solar Roof Solutions ซึ่งมียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้น 105% จากปีก่อน

สำหรับผลประกอบการปี 2566 มีรายได้ 499,646 ล้านบาท ลดลง 12% จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลง และการไม่รวมยอดขายของ SCG Logistics และกำไรสุทธิ 25,915 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากปีก่อน สาเหตุหลักจากกำไรของการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566

ส่วนไตรมาส 4 ปี 2566 มีรายได้ 120,618 ล้านบาท ลดลง 4% จากไตรมาสก่อน จากปริมาณขายที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีกำไรจากการดำเนินงานไม่รวมรายการพิเศษ 502 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 1,134 ล้านบาท จากการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในเมียนมา และรวมผลประกอบการของโรงงาน LSP อย่างไรก็ตาม SCG ยังคงรักษาความมั่นคงของสถานะการเงินได้อย่างต่อเนื่อง สิ้นปี 2566 มีเงินสดคงเหลือ 68,000 ล้านบาท

สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) ปี 2566 มีรายได้ 167,691 ล้านบาท คิดเป็น 34% ของรายได้จากการขายรวม สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม SCG Green Choice ปี 2566 มีรายได้ 270,716 ล้านบาท คิดเป็น 54% ของรายได้จากการขายรวม และรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทยในปี 2566 รวม 215,630 ล้านบาท คิดเป็น 43% ของยอดขายรวม

โดยธุรกิจเคมิคอลส์ ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 191,482 ล้านบาท ลดลง 19% จากปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าลดลง และมีกำไร 589 ล้านบาท ลดลง 90% จากปีก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาขายลดลงและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง

สำหรับไตรมาส 4 ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 46,259 ล้านบาท ลดลง 7% จากไตรมาสก่อน จากปริมาณขายที่ลดลง และขาดทุนสุทธิ 2,560 ล้านบาท สาเหตุจากส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมที่ลดลงและรับรู้ค่าใช้จ่ายของโครงการ LSP ซึ่งมาจากค่าเสื่อมราคาเป็นหลัก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้