สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

Last updated: 6 มิ.ย. 2567  |  930 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

สนพ. ตั้งเป้าแผนพีดีพี 2024 ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยไม่เกิน 4 บาท/หน่วย

สนพ. เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan 2024) ตั้งเป้าให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผน PDP 2024 ไม่เกิน 4 บาทต่อหน่วย มีพลังงานหมุนเวียน 51% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ส่วน Gas Plan 2024 คาดว่าภาพรวมการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าจะลดลง

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างแผน PDP 2024 และร่างแผน Gas Plan 2024 ในวันที่ 12-13 มิถุนายน 2567 สำหรับภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน และจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นรูปแบบออนไลน์ใน 4 ภูมิภาค ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ช่วงเช้าสำหรับประชาชนภาคกลาง ช่วงบ่ายสำหรับประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ช่วงเช้าสำหรับประชาชนภาคใต้ ช่วงบ่ายสำหรับประชาชนภาคเหนือ นอกจากนี้ สนพ. ยังเปิดรับให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้ามาแสดงความเห็นผ่านช่องทาง Facebook : EPPO Thailand และเว็บไซต์ www.eppo.go.th ตั้งแต่วันที่ 19-23 มิถุนายน 2567 ซึ่งข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็น สนพ. จะนำไปประกอบการปรับปรุงทั้งสองแผนนี้ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป

แผน PDP 2024 จะให้ความสำคัญในประเด็นต่าง ๆ 3 ด้าน คือ 1.ด้านเน้นความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ 2.ด้านต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม และ 3.ด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ที่ สนพ. กำลังจัดทำอยู่ โดยตั้งเป้าหมายแผน PDP 2024 จะมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดทั้งแผน ไม่เกิน 4 บาทต่อหน่วย

สำหรับสาระสำคัญของร่างแผน PDP 2024 นี้ จะมีการเพิ่มสัดส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็น 51% ของกำลังการผลิตทั้งหมด จากแผน PDP 2018 Rev.1 ฉบับปัจจุบัน มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 36% จะมีโรงไฟฟ้าใหม่และเทคโนโลยีใหม่เข้ามา โดยพลังงานหมุนเวียนที่จะเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ทั้งแบบโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์ลอยน้ำ และโซลาร์บวกด้วยระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ โดยคาดว่าจะรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เพิ่มประมาณ 20,000 เมกะวัตต์ แต่จะเป็นประเภทไหนจะมีการประกาศรับซื้อเป็นช่วง ๆ ไปตามความเหมาะสม

ยังมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ การรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ พลังงานลมที่จะรับซื้อเพิ่มขึ้น และพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) เป็นทางเลือกในช่วงปลายแผน และจะมีการนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าร่วมกับก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าเดิมที่ผลิตอยู่แล้ว

โดยในแผน PDP 2024 มีการตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30% ภายในปี 2573 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593

นอกจากนี้ ในแผน PDP 2024 จะมีการชี้ใช้เกณฑ์โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) ต้องไม่เกิน 0.7 วันต่อปี หรือไม่เกิน 17 ชั่วโมง จาก 8,760 ชั่วโมง จากเดิมใช้เกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) รวมทั้งยังกำหนดเป้าหมายของมาตรการเปลี่ยนแปลงพฤติกกรรมการใช้ไฟฟ้า (Demand response) 1,000 เมกะวัตต์ และมาตรการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) โดยอาจจะมีการพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าในช่วงกลางคืนให้เพิ่มขึ้น เพื่อลด Peak ในช่วงกลางคืน

ส่วน Gas Plan 2024 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอกับความต้องการใช้ของประเทศ และบริหารจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติให้มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพ โดย Gas Plan 2024 ได้ประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในระยะยาว จะลดลงจาก 4,859 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2567 เป็น 4,747 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2580 จากการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าลดลง เนื่องจากการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนและไฮโดรเจน การใช้ในโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ลดลงตามปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และการใช้ในภาคขนส่ง ตามจำนวนรถ NGV ที่มีแนวโน้มลดลง แต่จะมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้