สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

Last updated: 12 มิ.ย. 2567  |  1390 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

สนพ.ทำประชาพิจารณ์แผน PDP 2024 เพิ่มพลังงานหมุนเวียน 34,851 MW

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดรับฟังร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan 2024) โดย PDP 2024 จะมีพลังงานหมุนเวียนเข้ามาในแผน 34,851 เมกะวัตต์ ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม 5 โครงการ กำลังการผลิตรวม 3,500 เมกะวัตต์

สำหรับร่างแผน PDP 2024 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะทยอยเข้าระบบในช่วงปี 2567-2580 รวมทั้งสิ้น 60,208 เมกะวัตต์ (เป็นกำลังผลิตใหม่ที่ไม่นับรวมกำลังผลิตที่มีข้อผูกพันแล้ว) แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รวม 34,851 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 6,300 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน หรือนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) 600 เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 3,500 เมกะวัตต์ และอื่นๆ รวม 2,000 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 12,957 เมกะวัตต์ เป็นระบบกักเก็บ ประกอบด้วย พลังน้ำแบบสูบกลับ รวม 2,472 เมกะวัตต์ และแบตเตอรี่ 10,485 เมกะวัตต์

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 6,300 เมกะวัตต์ เป็นโครงการที่ กฟผ. ลงทุนเอง 5 โครงการ คิดเป็นกำลังผลิต 3,500 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 3 โครงการ รวม 2,800 เมกะวัตต์ อาจเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) เพื่อให้เอกชนที่สนใจยื่นประมูล หรืออาจให้ กฟผ. ลงทุนก็ได้ ขึ้นกับนโยบายของภาครัฐ ส่วนพลังน้ำแบบสูบกลับ 2,672 เมกะวัตต์ และ SMR 600 เมกะวัตต์ จะเป็นการลงทุนของ กฟผ.

ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ที่จะเข้ามาระหว่างปี 2567-2580 จำนวน 34,851 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ 24,412 เมกะวัตต์ พลังงานลม 5,345 เมกะวัตต์ ชีวมวล 1,046 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 936 เมกะวัตต์ แสงอาทิตย์ทุนลอยน้ำ 2,681 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 12 เมกะวัตต์ ขยะชุมชน 300 เมกะวัตต์ พลังน้ำขนาดเล็ก 99 เมกะวัตต์ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ 21 เมกะวัตต์

ขณะที่ค่าไฟฟ้าขายปลีกต่อหน่วยตลอดแผน เฉลี่ยอยู่ที่ 3.8704 บาทต่อหน่วย ถูกลงจากแผนเดิมซึ่งอยู่ที่ 3.9479 บาทต่อหน่วย

สำหรับสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 51% เมื่อเทียบกับแผนเดิมอยู่ที่ 36% รวมถึงนำไฮโดรเจนมาผสมในเชื้อเพลิง สัดส่วน 5% อีกด้วย

หลังจากกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นตามขั้นตอนแล้ว คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการพีดีพี จากนั้นจะเสนอไปยังที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับ คาดว่าจะประกาศใช้แผน PDP 2024 ได้ภายในเดือนกันยายนนี้

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้พูดในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ได้สั่งการให้กระทรวงพลังงาน หาแนวทางร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการออกมาตรการส่งเสริมให้บริษัทเอกชนซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาด และพลังงานทดแทนได้โดยตรงจากผู้ผลิตไฟฟ้า (Direct Purchase Power Agreement: Direct PPA) เพื่อสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้าน Data Center ของไทย และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยให้กำหนดมาตรการที่เหมาะสมมานำเสนอต่อที่ประชุม กพช. ภายในเดือนมิถุนายนนี้

ขณะนี้กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อวางมาตรการที่เหมาะสมเกี่ยวกับ โครงการนำร่อง Direct PPA เพื่อทดลองตลาด คาดว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนในเบื้องต้นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ดำเนินโครงการ ซึ่งจะต้องมีเรื่องของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้ามาใช้งานภายในพื้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และจะต้องมีการกำหนดอัตราไฟฟ้าที่ซื้อขายระหว่างกัน รวมถึงศึกษาอัตราค่าบริการสายส่งไฟฟ้า (Wheeling Charge) เป็นต้น เบื้องต้นคาดว่าโครงการนำร่อง Direct PPA จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบแรก 5,203 เมกะวัตต์ จะสามารถนำมาขายไฟฟ้าร่วมกับโครงการนำร่อง Direct PPA ได้หรือไม่นั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องหารือในรายละเอียดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

ส่วนความคืบหน้าแผนรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบสอง 3,668.5 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถดำเนินโครงการได้ภายในปีนี้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ร่างแผน PDP 2024 ผ่านการอนุมัติ เนื่องจากเป็นโครงการต่อเนื่องจากแผน PDP 2018 Rev.1 อีกทั้งกรณีฟ้องร้องเกิดขึ้นกับโครงการพลังงานลมเท่านั้น แต่โซลาร์เซลล์ลงนาม PPA ไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ กกพ. อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการเปิดรับซื้อไฟฟ้าต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้