Last updated: 21 พ.ย. 2567 | 799 จำนวนผู้เข้าชม |
Data Center ศูนย์ข้อมูลด้านพลังงาน
จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 5.2% ของมณฑลไห่หนานหรือเกาะไหหลำ ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน รัฐบาลมณฑลไห่หนานจึงได้จัดทำ แผนปฏิรูปพลังงาน ตั้งเป้าหมายใช้พลังงานสะอาด (ก๊าซธรรมชาติ/นิวเคลียร์/พลังงานหมุนเวียน) สัดส่วน 50% ภายในปี 2030 และใช้พลังงานสะอาด 100% ในปี 2035 ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ศูนย์ข้อมูลด้านพลังงานจึงมีความจำเป็นจะต้องเกิดขึ้น เพื่อให้มีการจัดการข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลอย่างถูกต้อง
คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปไห่หนาน จึงได้จัดทำศูนย์ข้อมูล Hainan Energy Data Center โดยมอบหมายให้ Hainan Power Grid Co., Ltd. ลงทุนสร้าง Hainan Energy Data Center เพื่อรองรับการเปลี่ยนอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวและคาร์บอนต่ำ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนานโยบายด้านพลังงานของมณฑล และเพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลและให้บริการด้านพลังงานของมณฑลไห่หนาน ประกอบด้วย Data Center 4ศูนย์ด้วยกัน
• Energy Digital Innovation Center พัฒนานวัตกรรมและบริการด้านพลังงานจากการวิเคราะห์ข้อมูลด้านพลังงาน
• Energy Data Value Center พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารสินทรัพย์พลังงาน
• Energy Data Sharing Center พัฒนาแพลตฟอร์มรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลพลังงาน
• Energy Data Convergence Center พัฒนาแพลตฟอร์มจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลด้านพลังงาน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ในจังหวัด
ปัจจุบัน Hainan Energy Data Center ได้พัฒนาแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อรองรับและสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ทั้งการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแหล่งพลังงานอื่น ๆ โดยแสดงได้ทั้งข้อมูลกำลังการผลิตติดตั้ง และพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ของโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ข้อมูลการใช้พลังงานของประชากรและบริษัทอุตสาหกรรมข้อมูลสมดุลการผลิตและใช้พลังงาน ข้อมูลทางเศรษฐกิจและการค้าจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างเป็นดัชนีเศรษฐกิจของเกาะไห่หนาน เพื่อช่วยในการกำหนดแนวทางการวางแผนพัฒนาพลังงานต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ และนำไปประยุกต์ใช้สร้างนโยบายที่แก้ปัญหาของแต่ละอุตสาหกรรมได้อย่างถูกต้อง รวมถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากพลังงานต่าง ๆ ช่วยให้รัฐบาลมณฑลไห่หนานสามารถติดตามและควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่ต่าง ๆ
Hainan Energy Guarantee Operation Dispatching Monitoring System Platform เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลด้านพลังงานต่าง ๆ ของมณฑลไห่หนาน ทั้งการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแหล่งพลังงานอื่น ๆ
• Hainan Free Trade Port (Energy) Economic Insight Platform เป็นแพลตฟอร์มที่รวบข้อมูลการใช้พลังงานของหลากหลายอุตสาหกรรม ร่วมกับข้อมูลทางเศรษฐกิจและการค้าจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างเป็นดัชนีเศรษฐกิจของเกาะไห่หนาน
• Energy Consumption Monitoring of State-owned Enterprises and Industries เป็นแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลการใช้พลังงานต่าง ๆ ของรัฐวิสาหกิจในมณฑลไห่หนาน เปรียบเทียบกับการใช้พลังงานของธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งหมดบนเกาะ
• Hainan Energy and Carbon Intelligent Management Platform เป็นแพลตฟอร์มที่รวมข้อมูลการผลิตและการใช้พลังงาน ไปจนถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากพลังงานต่าง ๆ
• Hainan New Power System Operation Planning Platform เป็นแพลตฟอร์มช่วยบริหารจัดการและวางแผนพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ ระบบโครงข่ายไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน
ส่วนประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) ก็ได้จัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขึ้น เพื่อนำข้อมูลการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 29 แห่ง ที่เชื่อมต่อกับระบบของ กฟผ. มาวิเคราะห์และประมวลผล จากนั้นนำผลการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไปวางแผนการผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ เป็นการนำข้อมูลด้านพลังงานมาใช้วิเคราะห์และวางแผน ตอบโจทย์การบริหารจัดการพลังงานสีเขียวในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม
นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า ในอนาคตหากสามารถนำข้อมูลการผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากหน่วยงานอื่น ๆ มาร่วมประมวลผล จะยิ่งทำให้การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประเทศมีความแม่นยำสูงขึ้น ส่งผลดีต่อการบริหารจัดการพลังงานของประเทศในภาพรวมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปล่อยเสียง
นอกจากนี้ทางประเทศจีน ก็ยังมีแผนปรับปรุงโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงมากขึ้นเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เนื่องจากเป็นระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำเมื่อเทียบกับระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบอื่น ๆ โดยนำพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำสูบน้ำไปกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำตอนบน และปล่อยกลับมาผลิตไฟฟ้าในเวลาที่ต้องการ ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าทดแทนพลังงานหมุนเวียนได้อย่างทันท่วงที
ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยก็มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 3 แห่ง รวม 1,531 เมกะวัตต์
โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี กำลังผลิต 360 เมกะวัตต์
• โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก กำลังผลิต 171 เมกะวัตต์
• โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์
และมีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับในอนาคตเพิ่มอีก 3 แห่งประมาณ 2,480 เมกะวัตต์
โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์
• โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี กำลังผลิต 900 เมกะวัตต์
• โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนกะทูน จังหวัดนครศรีธรรมราช กำลังผลิต 780 เมกะวัตต์
จะเห็นได้ว่าประเทศจีนกำลังมุ่งสู่ Carbon Neutrality คาร์บอน นูทราลิตี้ อย่างเข้มข้น มีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาดทุกรูปแบบ ประเทศไทยเองก็เช่นกัน มีการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดไว้ในร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2024) ถึง 51%โดย กฟผ. เป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบทสำคัญในการขับเคลื่อนให้มุ่งไปสู่เป้าหมายที่ได้ตั้งไว้
2 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
27 พ.ย. 2567
25 พ.ย. 2567