พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน)

Last updated: 8 ม.ค. 2568  |  416 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน)

EA เตรียมระดมทุน 7.4 พันล้านบาท มาลดหนี้

เมื่อวานนี้ (7 มกราคม 2568) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) หรือ EA ได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นในการระดมทุนประมาณ 7,400 ล้านบาท ผ่านการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม โดยได้รับความไว้วางใจอย่างท่วมท้นในแผนธุรกิจที่นำเสนอ และได้รับการโหวตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นถึง 99.9% ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะใช้ในการเสริมสร้างการฟื้นฟูธุรกิจ หลังจากการปรับโครงสร้างอย่างเข้มข้นภายในกลุ่มบริษัทในระยะเวลา 5 เดือน ที่ผ่านมา

“เงินทุนใหม่ที่ได้รับจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการเงินของ EA และช่วยให้สามารถคว้าโอกาสที่น่าสนใจต่าง ๆ ในอนาคตได้ เมื่อเราเดินหน้าเข้าสู่ก้าวของการฟื้นตัว” นายฉัตรพลกล่าว

สำหรับการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ EA ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตเชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การจัดหาผลิตภัณฑ์และระบบที่ใช้ในการกักเก็บและจำหน่ายไฟฟ้า เช่น ธุรกิจพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ ธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจประกอบยานยนต์ไฟฟ้า เช่น รถบรรทุกไฟฟ้า รสบัสไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า

ขณะนี้การจัดการธุรกิจอยู่ในสถานการณ์เริ่มนิ่งแล้ว ผ่านการตัดสินใจที่ยากลำบากบางอย่าง แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาคือ กระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง เป็นบวก และการสร้างกำไรอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจที่มีกำไรและปรับโครงสร้างธุรกิจที่ขาดทุน

บริษัทฯ มีธุรกิจที่ทำกำไรจากการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการดำเนินธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่มีผลประกอบการเป็นบวก ธุรกิจเหล่านี้รวมกันคิดเป็น 60% ของรายได้ EA และเกือบทั้งหมดของกำไรของบริษัทฯ

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของธุรกิจเหล่านี้ ได้ถูกหักล้างด้วยธุรกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์และธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่ที่ทำอยู่กำลังขาดทุนและดูดซับเงินสดไป สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเหล่านี้ ดังนั้น ในส่วนของการปรับโครงสร้าง จึงหยุดธุรกิจการประกอบยานยนต์ไฟฟ้าชั่วคราว และปรับลดขนาดธุรกิจแบตเตอรี่ ซึ่งทำให้ช่วยหยุดการไหลออกของเงินสดได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ยังมองเห็นศักยภาพในการเติบโตและการทำกำไรมหาศาลสำหรับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจแบตเตอรี่ แต่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจก่อน โดยสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้เล่นขนาดใหญ่ในตลาดโลก ซึ่งจะช่วยให้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นและสามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้ และจำเป็นต้องใช้เงินทุนให้น้อยลง ในภาคธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีเวลาจำกัดในการคืนทุน เมื่อได้เดินหน้าขับเคลื่อนกลยุทธ์นี้แล้ว ทำให้มีความคล่องตัวและฟื้นกลับมารับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

ตอนนี้ EA ได้ร่วมทุนกับ Chengli Special Automobile Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถประเภทพิเศษรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ในการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษ โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันเมื่อเดือนธันวาคม 2567 โดยยานยนต์จะถูกประกอบในโรงงานประกอบของ EA ที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีความสามารถในการผลิตสูงสุด 3,000-9,000 คันต่อปี คาดว่าจะเริ่มการผลิตในเดือนเมษายน 2568 โดยยานยนต์ไฟฟ้าที่จะประกอบมีทั้ง รถพยาบาล รถขยะ และรถกระเช้า ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษเหล่านี้จะถูกประกอบขึ้นในประเทศไทยในระดับอุตสาหกรรม การร่วมทุนนี้คาดว่าจะสร้างรายได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท ในปีแรกของการดำเนินการเต็มรูปแบบปี 2569

EA ยังได้ร่วมทุนกับผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับแนวหน้าของประเทศจีน ซึ่งมีฐานลูกค้าสำคัญอยู่ในตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรป เพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่แรกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รองรับการใช้งานในด้านระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ การผลิตจะดำเนินการที่พื้นที่ผลิตแบตเตอรี่ของ EA 91 ไร่ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และจะขยายกำลังการผลิตจาก 2 กิกะวัตต์ ในปัจจุบัน ไปเป็น 4 กิกะวัตต์ การลงนามข้อตกลงการร่วมทุนคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2568

นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน EA กล่าวว่า เงินทุนที่จะได้จากการเพิ่มทุนจะนำไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้ธนาคารและใช้ในการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด โดยหวังว่าจะลดหนี้สินจาก 58,664 ล้านบาท เหลือ 52,004 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดค่าดอกเบี้ยรายปีลงได้ประมาณ 300 ล้านบาท ยังช่วยปรับปรุงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้ดีขึ้นด้วย และเป็นประโยชน์ต่อเสถียรภาพทางการเงินและความน่าเชื่อถือของบริษัท รวมทั้งจะช่วยในส่วนของเงินกู้ให้ได้รับเงื่อนไขที่ดีขึ้น ส่งผลให้ประหยัดดอกเบี้ยมากขึ้นด้วย

สำหรับระยะเวลาในการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน ระหว่างวันที่ 17-23 มกราคม 2568

จากรายงานล่าสุดของ EA เปิดเผยว่า กระแสเงินสดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เป็นบวกดีมากอยู่ที่ 5,610 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกระแสเงินสดที่เดิมติดลบ 1,726 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 และสูงกว่าเกือบสามเท่าจากปีก่อนหน้านี้ โดยกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 1,852 ล้านบาท และ EBITDA อยู่ที่ 6,183 ล้านบาท จากรายได้ 14,397 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้