Last updated: 28 ม.ค. 2568 | 233 จำนวนผู้เข้าชม |
ผู้ถือหุ้น EA ซื้อหุ้นเพิ่มทุนฉลุยผ่านแผนเพิ่มทุน
บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยมีได้รับการจองซื้อเกินกว่าเป้าหมาย นำเงินทุนช่วยลดหนี้ เพิ่มความน่าเชื่อถือทางการเงิน สนับสนุนธุรกิจให้ฟื้นตัว
นายฉัตรพล ศรีประทุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า แผนการพลิกฟื้นธุรกิจได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้น จากความสำเร็จของการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในช่วงวันที่ 17-23 มกราคม 2568 โดยมีการจองซื้อเกินกว่าเป้าหมาย สามารถระดมทุนได้ทั้งสิ้น 7,426 ล้านบาท ส่งผลให้การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ได้รับการจองซื้อเกินกว่าเป้าหมาย
ซึ่งเงินทุนที่ได้มาจากผู้ถือหุ้น แสดงถึงความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้นที่เชื่อว่าการปรับโครงสร้างธุรกิจที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ช่วยให้ธุรกิจมีเสถียรภาพ และวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตในอนาคต เงินทุนเหล่านี้จะถูกใช้เพื่อลดหนี้ เพิ่มความน่าเชื่อถือทางการเงิน และลงทุนในโครงการต่าง ๆ ต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วสู่ก้าวต่อไปของแผนในการฟื้นตัว
ส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจในภาพรวม คือ EA กำลังมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจที่สร้างผลกำไรสูง ได้แก่ การผลิตไบโอเชื้อเพลิง การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ และการดำเนินธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีกระแสเงินสดเป็นบวก ซึ่งมีสัดส่วนรายได้รวมกันประมาณ 60% ของรายได้รวมของ EA ขณะเดียวกัน EA ได้หยุดหรือลดขนาด 2 ธุรกิจที่ขาดทุน ในระหว่างเตรียมการปรับโครงสร้าง ได้แก่ ธุรกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่ โดยจะมีการหาพันธมิตรสำหรับแต่ละธุรกิจที่เป็นรายใหญ่ระดับนานาชาติที่จะช่วยให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก และช่วยขยายตลาดไปต่างประเทศได้
สำหรับการประกอบยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษที่โรงงานฉะเชิงเทรา จะเริ่มดำเนินการในเดือนเมษายน 2568 โดยร่วมมือกับผู้ผลิตยานยนต์ประเภทพิเศษรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศจีน Chengli Special Automobile Co., Ltd. (บริษัท เฉิงหลี่ สเปเชียล ออโตโมบิล) ซึ่งจะเป็นรายแรกในประเทศไทยที่ประกอบยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษในจำนวนมาก เช่น รถพยาบาล รถเก็บขยะ และยานพาหนะประเภทพิเศษอื่น ๆ นอกจากนี้ กำลังเจรจาร่วมทุนกับบริษัทจากประเทศจีน เพื่อเป็นโรงงานแรกขนาดใหญ่ในประเทศไทยในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่มีกำลังการผลิต 4 กิกะวัตต์
21 พ.ค. 2568
21 พ.ค. 2568
21 พ.ค. 2568