Last updated: 2 พ.ค. 2568 | 93 จำนวนผู้เข้าชม |
เชฟรอนสานต่อภารกิจสร้างนักวิทย์ทะเลรุ่นใหม่ เพื่อขับเคลื่อนโลกสู่ความยั่งยืน
ในยุคที่ความยั่งยืนเป็นวาระสำคัญระดับโลก อาชีพนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเป็นหนึ่งในอาชีพที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการศึกษาและบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลให้สมดุลและยั่งยืน จากข้อมูลของสำนักสถิติแรงงานสหรัฐฯ (Bureau of Labor Statistics) อาชีพนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ครอบคลุมถึงกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มีแนวโน้มเติบโตถึง 7% ในช่วงปี 2023-2033 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของหลายอาชีพ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการบุคลากรเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันและอนาคต
การพัฒนากำลังบุคลากรด้านนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล จึงมีความจำเป็นมากกว่าที่เคย ด้วยเหตุนี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงสานต่อการจัดค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อน ครั้งที่ 32 เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนในระดับมหาวิทยาลัยที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นอย่างเป็นระบบทั้งการเรียนรู้ในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนภารกิจการสร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ให้เป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์ท้องทะเลไทยอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.ลักษณ์นารา ขวัญชุม รองผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า “การจัดค่ายในครั้งนี้ มีผู้ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมค่ายเป็นจำนวนมาก สอดรับกับเทรนด์ด้านความยั่งยืนที่เติบโตขึ้น โดยปีนี้ มีผู้ผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการ และจบการอบรม ประกอบด้วย นักศึกษาระดับปริญญาตรี และโท จำนวน 68 คน จาก 19 มหาวิทยาลัย ครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัดทั่วประเทศ โดยจุดเด่นของค่ายนี้ ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการสร้างความรู้พื้นฐานด้านระบบนิเวศทางทะเล แต่ยังส่งเสริมทักษะการตั้งโจทย์ปัญหา การวิเคราะห์ข้อมูล การวิจัย การทำงานร่วมกัน และการแก้ปัญหา ผ่านการเรียนรู้เชิงปฏิบัติและการทำวิจัยภาคสนามด้วย นอกจากนี้ สิ่งที่น้องๆ จะได้รับจากค่าย คือเครือข่ายที่เข้มแข็งในแวดวงนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ทั้งระหว่างเพื่อนร่วมรุ่นและรุ่นพี่ที่เคยเข้าร่วมค่าย ซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่ในหลากหลายสายอาชีพ และมีบทบาทในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของประเทศ ตามแนวทางและความเชี่ยวชาญของตนเอง”
ในปีนี้ ค่ายได้จัดให้มีการบรรยายในรูปแบบออนไลน์ขึ้นในเดือนมีนาคม 2568 โดยได้เชิญนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันการศึกษา คณาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ จากทั่วประเทศ มาให้ความรู้ตั้งแต่พื้นฐานแนวคิดที่ครอบคลุมโครงสร้างและหน้าที่ของระบบนิเวศทางทะเล รวมทั้งการประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อแก้ไขและจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายระดับชาติและสถานการณ์
สำหรับในส่วนของกิจกรรมภาคปฏิบัติ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 28 เมษายน 2568 ณ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จ.ภูเก็ต ทางค่ายได้คัดเลือกนักศึกษา จำนวน 20 คน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ โดยเน้นการศึกษาภาคสนามของจริงในทะเล ได้แก่ การศึกษาหาดชนิดต่างๆ การเยี่ยมชมป่าชายเลน และการทดลองใช้เครื่องมือทันสมัยต่างๆ การลงเรือสำรวจเพื่อปฏิบัติการศึกษาทางสมุทรศาสตร์ โดยใช้เครื่องมือทันสมัยต่างๆ การดำน้ำศึกษาระบบนิเวศปะการัง นับเป็นโอกาสที่เยาวชนจะได้ประสบการณ์การลงพื้นที่ทำการวิจัยอย่างใกล้ชิด
นายเผ่าเทพ เชิดสุขใจ นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กล่าวว่า “ทะเลมีคุณูปการมหาศาลต่อมวลมนุษย์ เป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งกำเนิดพลังงาน แหล่งพึ่งพาด้านอาชีพ เช่น การท่องเที่ยว การประมง ซึ่งสร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจมากมาย เมื่อเราใช้ประโยชน์จากทะเลในทุกมิติ ปัญหาก็มีมากตาม เห็นได้จากภาวะความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้น การดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนั้นไม่สามารถทำได้โดยภาครัฐเพียงอย่างเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อระดมสรรพกำลังในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การจัดค่ายนี้ จึงนับเป็นการสร้างมวลชนโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถตามหลักวิชาการ มาช่วยผลักดันการอนุรักษ์และฟื้นฟูท้องทะเลไทยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น"
นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการ ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “เชฟรอนเป็นบริษัทพลังงาน ที่มุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพของคน ซึ่งเป็นแกนหลักของวัฒนธรรมองค์กรที่ต่อยอดไปสู่การทำกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งการสนับสนุนด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยเชฟรอนได้ให้การสนับสนุนการจัดค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อนมาตลอดกว่า 3 ทศวรรษ เพราะเล็งเห็นถึงบทบาทสำคัญของค่ายในการวางรากฐานการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ในสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่เป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์ท้องทะเลอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังช่วยผลักดันให้เกิดเครือข่ายนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมนำองค์ความรู้ไปใช้ในการการอนุรักษ์และฟื้นฟูท้องทะเลต่อไป ซึ่งในปัจจุบันมีเยาวชนจากทั่วประเทศเข้าร่วมค่ายนี้มาแล้วกว่า 950 คน ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เชฟรอนไม่ได้สนับสนุนแค่ด้านงบประมาณ แต่เรายังทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับทุกหน่วยงาน เพื่อพัฒนาค่ายให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านปิโตรเลียมและโลจิสติกจากเชฟรอนมาร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่น้องๆ ด้วย”
ค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อนนี้ จึงเป็นอีกก้าวของการพัฒนากำลังคน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่เพียงช่วยเสริมสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่สามารถขับเคลื่อนการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังสร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญที่จะร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและสมดุลในระยะยาว
2 พ.ค. 2568
2 พ.ค. 2568
2 พ.ค. 2568
2 พ.ค. 2568