Last updated: 26 เม.ย 2563 | 2288 จำนวนผู้เข้าชม |
ท่ามกลางสัญลักษณ์ในวงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงคุ้นหูคุ้นตากับภาพลูกศร 3 ตัวที่วิ่งวนเป็นวงกลม และสโลแกนที่ประกอบด้วย 3R อันได้แก่ Reuse – Reduce – Recycle แต่ในช่วงหลายปีมานี้ เราได้รับรู้อีกคำศัพท์ใหม่ที่ใช้กับกระบวนการแปลงวัสดุเหลือใช้ หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถใช้งานตามหน้าที่เดิม ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยใช้การออกแบบเป็นเครื่องมือสำคัญ และนั่นคือที่มาของคำว่า Upcycling หรือพูดให้ง่ายขึ้นก็คือ การนำเอาเศษวัสดุต่างๆที่จะกลายเป็นขยะ นำกลับมาทำเป็นของใช้ใหม่ ด้วยการเพิ่มความสวยงาม หรือใส่ไอเดียใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งที่กำลังจะกลายเป็นขยะนั่นเอง
น่ายินดีที่หลายองค์กรในบ้านเราเริ่มมีความเคลื่อนไหวในการสร้างความเป็นรูปธรรมให้กับกรอบแนวคิดนี้ และหนึ่งในนั้นก็คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ที่สนับสนุนนโยบาย Circular Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (Re-material) และสนับสนุนการใช้ซ้ำ (Reuse)
รูปธรรมล่าสุดของ PTTGC คือ โครงการ Upclycing the Oceans Thailand ที่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ซึ่งมีการนำเสนอชุดที่ตัดเย็บมาจากขวดพลาสติกใสรีไซเคิล โดยผ่านการคัดแยก และเข้าสู่กระบวนการแปรรูป ด้วยการย่อยพลาสติกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปปั่นเป็นเส้นใย ก่อนนำมาทอใหม่จนกลายเป็นผืน โดยผ้าผืนแรกที่มาจากขยะพลาสติกในโครงการนี้ ได้ถูกนำมาออกแบบเป็นกางเกงกีฬาทางน้ำ ที่ผ่านการออกแบบสร้างสรรค์จากดีไซเนอร์ชั้นนำของเมืองไทย
นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นตามนโยบาย Circular Economy ผ่านโครงการ Upcycling the Oceans Thailand ซึ่งเป็นการเก็บขยะในทะเล และโครงการ Upcycling Plastic Waste ที่เป็นการเก็บขยะบนบก โดยมีเป้าหมายที่จะนำพลาสติกใช้แล้วมาเพิ่มมูลค่า และเป็นโครงการระยะยาวในการดูแลขยะพลาสติก...ที่เป็นมากกว่าขยะ
นายปฏิภาณ สุคนธมาน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย ของ PTTGC กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีและพลาสติกที่ใช้ในชีวิตประจำวันชั้นนำของประเทศ PTTGC จึงให้ความสำคัญกับการนำพลาสติกใช้แล้ว นำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ เพิ่มมูลค่าด้วยการออกแบบ ปรับเปลี่ยนด้วยนวัตกรรม เพื่อลดปริมาณขยะ โดยเฉพาะการลดปริมาณขยะจากใต้ท้องทะเลผ่านโครงการ Upcycling the Oceans Thailand และนำไปแปรรูปให้เป็นวัตถุดิบด้วยนวัตกรรม และออกแบบเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นที่มีคุณภาพสูงและมีมูลค่าสูงขึ้น
“ต่อไปการเก็บขยะพลาสติกจะไม่ใช่แค่การนำพลาสติกมา Recycle แต่จะเป็นการ Upcycling เพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น...มากขึ้นกว่าการ Recycle”
นอกเหนือจากกางเกงกีฬาทางน้ำ ประโยชน์ของขวดพลาสติกเหลือใช้ ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นเสื้อวิ่งออกกำลังกาย ที่สามารถใส่ได้จริง เนื้อผ้ามีคุณภาพดี ช่วยระบายความร้อน โดยเสื้อวิ่ง 1 ตัว ใช้ขวดพลาสติกใสใช้แล้ว 12 ขวด เป็นเสื้อใส่สำหรับวิ่งในโครงการ “วิ่งสู่อนาคต 50 ปี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” และในอนาคตจะขยายวงกว้างไปในเสื้อประเภทต่างๆ รวมทั้งการนำเอาพลาสติกประเภทอื่นๆ มาเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วย
คุณวราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร PTTGC ยังบอกด้วยว่า เสื้อวิ่งที่ผลิตจากขวดพลาสติกที่ใช้แล้ว จะมีความพิเศษ เพราะเป็นเสื้อรีไซเคิล 100% คุณสมบัติเหมือนเสื้อปกติ ไม่ร้อนสวมใส่สบาย
ประโยชน์ของเม็ดพลาสติกรีไซเคิลไม่ใช่แค่เพียงเสื้อผ้า แฟชั่น แต่ยังสามารถนำไปทำเป็นอาคารพาวิลเลียน โคมไฟแชนเดอเลียร์ และในอนาคตก็จะขยายไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วยความมุ่งมั่นของ PTTGC ที่จะเป็นผู้นำในการนำพลาสติกใช้แล้วมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น มีมูลค่ามากขึ้น และมีความเป็นสินค้าแฟชั่นมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของกระบวนการ Upcycling จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคนทุกฝ่าย และวิธีง่ายๆ ที่เราสามารถช่วยกันได้ก็คือ เริ่มต้นแยกขยะให้ถูกประเภทตั้งแต่วันนี้ และบางทีคุณอาจลองเดินทางสู่โลก Upcycling ด้วยการคิดสร้างสรรค์วิธีการสร้างมูลค่าให้เศษวัสดุ หรือทำของใช้เองในครัวเรือนจากวัสดุเหลือใช้ โดยมีหมายเหตุสำคัญว่า ในกระบวนการนั้นคุณต้องไม่สร้างขยะเพิ่มขึ้นมาอีกนะ!
30 ก.ค. 2567
16 ส.ค. 2567
5 ก.ค. 2567
2 ส.ค. 2567