ก.พลังงาน ลงนาม PSC เอราวัณและบงกช

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  1600 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ก.พลังงาน ลงนาม PSC เอราวัณและบงกช

กระทรวงพลังงาน ลงนามสัญญา PSC แหล่งเอราวัณ และบงกช



ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้ลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) สำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) กับ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด และ สัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยหมายเลข G2/61 (แหล่งบงกช) กับ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด

โดยการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้มีการลงทุนผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกชในอ่าวไทย ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานซึ่งเริ่มมีการผลิตในปี 2524 และสัญญาสัมปทานสำหรับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของทั้ง 2 แหล่งกำลังจะสิ้นอายุลงในปี 2565 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จึงดำเนินการเปิดประมูลสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทั้ง 2 แปลง เพื่อให้มีการผลิตก๊าซธรรมชาติในปริมาณมากพอตามความต้องการใช้อย่างต่อเนื่องภายใต้เงื่อนไขที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ จนได้ผู้ชนะการประมูลนำมาสู่การลงนามสัญญาในวันนี้

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ดำเนินการเปิดประมูลสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้ง 2 แปลง เป็นการทั่วไป ด้วยการออกหนังสือเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมประมูลภายใต้ระบบ PSC เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 โดยมีผู้ยื่นซองเอกสารประมูล เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 เป็นกลุ่มผู้รับสัมปทานรายเดิม 2 กลุ่ม ที่มีความชำนาญและมีความมั่นใจว่าจะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่องและในปริมาณตามเงื่อนไขของการประมูลได้

หลังจากนั้น กระทรวงพลังงานใช้เวลา 2 เดือนในการคัดเลือกผู้ชนะการประมูล และนำเข้าเสนอพิจารณาอนุมัติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 จึงได้มีมติตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงานโดยคำแนะนำของคณะกรรมการปิโตรเลียม อนุมัติให้ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแปลงสำรวจหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแปลงสำรวจหมายเลข G2/61 (แหล่งบงกช)

ในการประมูลดังกล่าว ได้กำหนดให้ผูกพันปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำสำหรับ 10 ปีแรกของระยะเวลาการผลิต ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับแหล่งเอราวัณ และ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับแหล่งบงกช

ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตทั้ง 2 แปลง ได้เสนอราคาค่าคงที่สำหรับราคาก๊าซธรรมชาติที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาปัจจุบันของทั้ง 2 แปลง นับเป็นจุดเริ่มต้นของฐานพลังงานใหม่โดยจะทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติลดลงจากเดิมในราคาประมาณ 6 - 7 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู มาอยู่ที่ประมาณ 4 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และราคาก๊าซธรรมชาติที่ถูกลงยังทำให้ค่าไฟลดลงประมาณ 15-20 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิมที่ราคา 3.60 บาทต่อหน่วย ลดลงมาอยู่ที่ 3.40 บาทต่อหน่วย ด้วย นอกจากนั้น โรงแยกก๊าซธรรมชาติในประเทศยังได้รับก๊าซธรรมชาติในปริมาณเพียงพอกับการนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ในการผลิตเป็นก๊าซ LPG และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในราคาต้นทุนที่แข่งขันได้ อีกทั้งผลจากการที่มีการผลิตก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่มากพอที่จะเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในราคาที่ไม่แพงได้เป็นพื้นฐานในการเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติในแผน PDP 2018 จาก 30% เป็น 53% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ ผู้บริโภคจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 5.5 แสนล้านบาท งบประมาณเข้ารัฐเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท ประโยชน์โดยรวมจึงอยู่ที่ 6.5 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี

“การลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตระหว่างกระทรวงพลังงานกับผู้ที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยทั้ง 2 แปลง ในวันนี้ จะสามารถเป็นหลักประกันว่าประเทศไทยและประชาชนจะมีก๊าซธรรมชาติจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศใช้อย่างต่อเนื่องในราคาที่ไม่แพง รวมทั้งจะสามารถสร้างเสถียรภาพด้านพลังงาน เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศให้แข็งแกร่งต่อไป” นายศิริ กล่าว

นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิง กล่าวว่า หลังจากลงนามสัญญาแล้ว ผู้ชนะประมูลต้องส่งแผนเตรียมการลงทุน ผลิตก๊าซมาให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ภายใน 45 วัน และหลังจากนั้น จึงจะทราบรายละเอียดว่าผู้ได้รับสิทธิ์ แต่ละแปลงจะใช้เงินลงทุนอย่างไร

ทางด้าน นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. กล่าวว่า หลังการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต แปลง G1/61 และแปลง G2/61 ปตท.สผ. อีดี จะเดินหน้าตามแผนงานที่ได้เตรียมการไว้ โดยมีเป้าหมายหลักคือการรักษาความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจากทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ โดยในส่วนของแหล่งบงกช ซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้วนั้น บริษัทสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องทันที ส่วนแหล่งเอราวัณนั้น ปตท.สผ. อีดี จะดำเนินงานตามแผนงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินการ (Transiton of Operations) โดยจะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถเข้าดำเนินการและผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นพลังงานให้กับประเทศได้อย่างต่อเนื่องในปี 2565

สำหรับแผนการดำเนินงานทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณตามข้อเสนอสัญญาฯ ที่จะรักษาระดับการผลิตก๊าซฯ ตั้งแต่ปี 2565 ไปจนถึงตลอดช่วงอายุสัญญาฯ ไม่น้อยกว่า 700 และ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามลำดับนั้น ปตท.สผ. อีดี วางแผนที่จะลงทุนอีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท สำหรับการพัฒนาแหล่ง เช่น เจาะหลุมสำรวจและหลุมผลิต การก่อสร้างแท่นผลิตเพิ่มเติม

ในด้านของแผนทรัพยากรบุคคล ปตท.สผ. อีดี ยินดีต้อนรับเพื่อนพนักงานทุกคนที่พร้อมจะร่วมสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินการของแหล่งเอราวัณ และร่วมสานต่อในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถสรุปรายละเอียดเกี่ยวกับแผนทรัพยากรบุคคลแหล่งเอราวัณได้ภายในปีนี้

สำหรับข้อเสนอที่ ปตท.สผ. อีดี ยื่นต่อรัฐฯ ในการประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณว่าค่าคงที่ราคาก๊าซที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งได้เสนอไปนั้น บริษัทมั่นใจว่าเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน รวมทั้ง ปตท.สผ. เองที่ยังคงได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ ปตท.สผ. อีดี สามารถเสนอค่าคงที่ราคาก๊าซที่ต่ำลงนั้น เนื่องมาจากการเป็นผู้ดำเนินการทั้งแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณ จะทำให้บริษัทมีปริมาณการผลิตก๊าซฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีผลตอบแทนจากขายก๊าซฯ เพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นด้วย ในขณะเดียวกัน สามารถบริหารจัดการต้นทุนการผลิตก๊าซฯ ให้ลดลงได้จากการผสานประโยชน์ (Synergy) ในการดำเนินการทั้ง 2 แหล่งร่วมกัน เช่น ค่าบริหารจัดการส่วนกลาง, ค่าเจาะหลุม ค่าแท่นหลุมผลิต ค่าใช้จ่ายของระบบโลจิสติกส์ และการจัดหาสินค้าและบริการต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถลดต้นทุนได้ประมาณ 20 – 25%

สำหรับการดำเนินการในแหล่งเอราวัณ ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตนั้น ปตท.สผ. ได้ร่วมทุนกับ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ในสัดส่วนการลงทุน 60% และ 40% ตามลำดับ ส่วนแหล่งบงกช ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการเอง ด้วยสัดส่วนการลงทุน 100%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้