น้ำมันปาล์ม กับการแก้ปัญหาด้านพลังงาน

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  2898 จำนวนผู้เข้าชม  | 

น้ำมันปาล์ม กับการแก้ปัญหาด้านพลังงาน

น้ำมันปาล์ม กับการแก้ปัญหาด้านพลังงาน

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากสภาพอากาศร้อนจัดทำให้ปาล์มสุกเร็วจนล้นกำลังสกัดจากโรงสกัด ที่มีอยู่ ส่งผลให้ราคาผลปาล์มหน้าลานเทมีราคาตกลง ราคาที่เคยทำให้เกษตรกรสามารถได้ราคาสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ก็เริ่มร่วงลงเรื่อยๆ จนเกินจะรับได้ ทำให้ที่ผ่านมาหลายฝ่ายต้องเร่งออกมาช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเกษตรกร เพื่อพยุงราคาให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ

เป็นที่ทราบกันดีว่า น้ำมันปาล์ม สามารถนำมาแปรสภาพเป็นสินค้าได้หลากหลาย ไม่ว่าจะนำไปทำเป็นอาหาร หรือ เป็นส่วนประกอบในเคมีภัณฑ์ ที่เรียกว่าโอลีโอเคมี หรือ นำไปใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางราคาแพงแล้ว ที่สำคัญที่สุดคือการนำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน อย่างไบโอดีเซล ได้เป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการพึ่งพาน้ำมันดีเซล และยังถือเป็นการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

และจากประโยชน์ที่เห็นได้ชัดจากน้ำมันปาล์มดังกล่าวนี้เอง กระทรวงพลังงานจึงมีแนวทางแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันปาล์มดิบที่ราคากำลังตกอยู่ในขณะนี้ด้วยการเร่งให้เกิดการนำน้ำมันปาล์มมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ชนิดต่างๆ ให้มากขึ้นเป็นการเร่งดูดซับน้ำมันปาล์มดิบที่มีปริมาณล้นตลาดอยู่ในขณะนี้ เพื่อช่วยพยุงราคาปาล์มให้สูงขึ้น โดย มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นำแนวทางการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 2 แสนตัน ไปผลิตกระแสไฟฟ้าและ พร้อมกับให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซล บี 20 ขณะเดียวกันได้ขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกระตุ้นและ ส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล บี 20 เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้กรมธุรกิจพลังงานยังได้ประกาศให้น้ำมันไบโอดีเซล บี10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดมาตรฐานของประเทศไทย อีกชนิดหนึ่ง โดยจะมีราคาถูกกว่า ราคาของน้ำมันไบโอดีเซล บี7 ลิตรละ 1 บาท ซึ่งในอนาคตจะได้มีการประกาศให้น้ำมัน บี10 เป็นน้ำมันไบโอดีเซลหลัก โดยน้ำมันบี 7 จะกลายเป็นเกรดพรีเมียม และหากต้องการใช้ไบโอดีเซลในราคาที่ถูกกว่านั้นไปอีก ก็ต้องเลือกเติมน้ำมัน บี 20 เนื่องจากมีราคาถูกกว่าน้ำมันบี 7 เดิมรวมแล้วถึงลิตรละ 5 บาท เลยทีเดียว โดยมาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมน้ำมันปาล์มดิบมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากเกษตรกรเพื่อนำมาใช้ผลิตน้ำมันไบโอดีเซลชนิดต่างๆ เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

“ก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานจัดให้มีการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ให้กับกลุ่มรถบรรทุกขนส่งสินค้า รถโดยสาร เรือโดยสาร ล่าสุดขยายมายังรถกระบะ ซึ่งได้เร่งหารือกับผู้จำหน่ายรถกระบะแต่ละค่าย เพื่อให้การรับรองการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 โดยวางเป้าหมายการจำหน่ายน้ำมัน บี 20 ไว้ที่ 15 ล้านลิตรต่อวัน และ บี 7 ที่ 50 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งจะทำให้สามารถดูดซับน้ำมันปาล์มดิบได้ 2 ล้านตันต่อปี และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันของประเทศ” ดร.ศิริกล่าว

ทั้งนี้มาตรการต่างๆ ที่กระทรวงพลังงานได้เร่งดำเนินการไม่ว่าจะเป็นการพยายามผลักดันให้มีการนำน้ำมันปาล์มดิบไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า หรือการกำหนดให้มีการเพิ่มสัดส่วนลงในน้ำมันไบโอดีเซลชนิดต่างๆ สร้างความพอใจให้กับเกษตรกรสวนปาล์มที่กำลังเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ลดปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่กำลังล้นตลาดและน่าจะทำให้ราคาปาล์มสูงขึ้นได้หากมีมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องอย่างเช่นที่กระทรวงพลังงานดำเนินการอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้บริโภคทั่วไปก็สามารถที่จะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเกษตรกรได้เช่นกันจากการหันมาใช้น้ำมันไบโอดีเซลชนิดต่างๆ ที่เหมาะสมกับเครื่องยนต์ของรถยนต์ตนเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรแล้วยังช่วยลดมลภาวะทางอากาศที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้