Last updated: 26 เม.ย 2563 | 675 จำนวนผู้เข้าชม |
ราช กรุ๊ป จะขยายพอร์ตการลงทุนระบบสาธารณูปโภคเป็น 20%
ราช กรุ๊ป จะขยายพอร์ตการลงทุนระบบสาธารณูปโภคให้เป็น 20% เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน พร้อมเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 10,000 เมกะวัตต์
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าลงทุนในธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า ถนนมอเตอร์เวย์ การผลิตน้ำประปา ในปี 2566 ประมาณ 20% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด โดยปัจจุบันมีการลงทุนในระบบสาธารณูปโภค ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง-ชมพู โครงการผลิตน้ำประปาแสนดินในลาว และร่วมกับ บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT ในโครงการโครงข่ายสายใยแก้วนำแสงใต้ดินในไทย
โดยกำลังศึกษาโอกาสการลงทุนในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้น โดยเน้นการลงทุนในประเทศในโครงการคมนาคมขนส่ง ซึ่งปัจจุบันก็ได้เข้าร่วมพันธมิตรประมูลงานมอเตอร์เวย์ 2 เส้นทาง ได้แก่ สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลในปลายปีนี้ รวมถึงสนใจลงทุนโครงการโทรคมนาคม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเมืองอัจฉริยะ (Smart City)
“บริษัทต้องการขยายฐานการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน สร้างกำไรในระยะยาวให้กับบริษัท โดยเห็นว่าระบบสาธารณูปโภคในประเทศไทยยังมีการขยายตัวอีกมาก และส่วนใหญ่จะเป็นสัญญาระยะยาว ทำให้บริษัทมีรายได้อย่างต่อเนื่อง” นายกิจจา กล่าว
สำหรับธุรกิจกิจผลิตไฟฟ้าได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2566 จากปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 9,222 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 6,937.58 เมกะวัตต์ ซึ่งรวม 2 โครงการที่ COD แล้วในปีนี้ 77.23 เมกะวัตต์ จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์คอลลินส์วิลล์ในออสเตรเลีย และโครงการเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่นในไทย
ในปีนี้มีอีก 1 โครงการที่จะ COD คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียนเซน้ำน้อยในลาว กำลังผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 102.5 เมกะวัตต์ ที่จะ COD ในเดือนธันวาคมนี้
ในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทได้ลงทุนโครงการพลังงานลม 2 แห่ง ในออสเตรเลีย คือ โครงการคอลเลกเตอร์ กำลังผลิต 226.8 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้น 100% และโครงการยานดิน กำลังผลิตติดตั้ง 214.2 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้น 70% และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมหินกอง กำลังผลิตติดตั้ง 1,400 เมกะวัตต์ ในประเทศไทย และอยู่ระหว่างเจรจาหากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ทั้งในและอาเซียน 1-2 โครงการ คาดว่าจะสรุปได้ในปีนี้ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป
ส่วนในปี 2563 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ COD รวม 400.73 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย โรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเลกเตอร์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดินในออสเตรเลีย
ขณะเดียวกันจะมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 3 โครงการที่จะหมดอายุในปี 2563-2570 ได้แก่ โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ขนาด 700 เมกะวัตต์ หมดอายุในเดือนกรกฎาคม 2563 โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี ขนาด 1,470 เมกะวัตต์ หมดอายุในปี 2568 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรี ขนาด 2,175 เมกะวัตต์ หมดอายุในปี 2570
นอกจากนี้ ยังมองโอกาสการลงทุนในประเทศ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (PDP2018) โครงการพลังงานทดแทนในออสเตรเลีย ระบบการจัดการพลังงาน (Energy Service) ที่ปัจจุบันเจรจากับ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) โดยอยู่ระหว่างศึกษาร่วมกับ กฟผ.เมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จ ก็จะพิจารณาโอกาสการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมนวนครว่าจะบริหารจัดการได้อย่างไรบ้าง และยังมองโอกาสลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานด้วย
นอกจากนี้ ยังมองโอกาสการลงทุนโครงการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) ในประเทศ ในโครงการงานรับเหมาก่อสร้าง (EPC) โซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธรของ กฟผ. บริษัทและพันธมิตรก็ได้เข้าไปซื้อซองประมูลเพื่อเข้าร่วมแข่งขันด้วย และในอนาคต กฟผ. ซึ่งได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเพื่อสร้างสายส่ง 16-17 โครงการ มูลค่า 6-7 แสนล้านบาท ก็มีโอกาสที่ กฟผ.จะให้บริษัทลูกเข้าไปร่วมดำเนินการด้วย และ กฟผ.มีโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่อีก 8 โรง ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ก็อาจจะมีการเข้าไปร่วมลงทุนด้วย
สำหรับผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกปี 2562 มีรายได้รวม 23,518.50 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3,693.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์คอลลินส์วิลล์ ในออสเตรเลีย กำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 42.5 เมกะวัตต์ และโครงการเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่นในไทย กำลังผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 34.73 เมกะวัตต์
สำหรับในครึ่งแรกของปีนี้ บริษัทมีการลงทุนเพิ่ม 3 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเลกเตอร์ ในออสเตรเลีย กำลังการผลิต 226.8 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่ม COD ในปี 63 , โรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน ในออสเตรเลีย กำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 214.2 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่ม COD ในปี 63 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกองในไทย รวม 2 โรง ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้รับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในปี 63 และเจรจางาน EPC และเงินกู้โครงการแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 63 เริ่มก่อสร้างในปี 64 และ COD ในเดือน มี.ค.67 และม.ค.68
6 พ.ย. 2567
6 พ.ย. 2567
6 พ.ย. 2567
5 พ.ย. 2567