กระทรวงพลังงานเร่งส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  682 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กระทรวงพลังงานเร่งส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า

กระทรวงพลังงานเร่งส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า


กระทรวงพลังงานเร่งผลักดันการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศ โดยจะเร่งส่งเสริมทั้งระบบในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารูปแบบต่างๆ ผลักดันให้เกิดสถานีชาร์จไฟฟ้าให้มากขึ้น และผลักดันให้มีการพัฒนาแบตเตอรี่ภายในประเทศ มุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ คาดว่าจะการเปลี่ยนผ่านจะใช้เวลา 5 ปี

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กำลังพิจารณามาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ (EV) เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของรถยนต์ EV ในภูมิภาคนี้ ปัจจุบันการพัฒนา EV ของประเทศไทย กำลังเป็นยุคเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เพราะจะกระทบต่อภายรวมการใช้พลังงานที่จะมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งการผลิตไฟฟ้าต้องรองรับการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมให้มีการพัฒนารถยนต์ EV ประเภทต่างๆ ซึ่งต้องมีการหารือกับผู้ผลิตรถยนต์ การส่งเสริมให้เกิดการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเกิดรถยนต์ EV ในประเทศ

สำหรับประเทศไทยการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในยุคแรกของการส่งเสริมการใช้รถยนต์ Hybrid ประสบความสำเร็จแล้ว เพราะมียอดการใช้เติบโต 20% ซึ่งมีการแก้ปัญหาตัวแบตเตอรี่ให้มีอายุยาวขึ้น และมีราคาถูกลง ทำให้ผู้บริโภคตอบรับมากขึ้น

ปัจจุบันกำลังเข้าสู่ยุคที่สอง คือ การก้าวเข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ คือ 1.Plug in Hybrid ซึ่งใช้ไฟฟ้าร่วมกับน้ำมัน 2.รถยนต์ EV เต็มรูปแบบที่ใช้ไฟฟ้าอย่างเดียว ซึ่งเป็นประเภทที่กำลังมีการส่งเสริมกันทั่วโลก และ 3.รถยนต์ EV ที่ใช้ระบบไฮโดรเจน (Fuel Cell) สำหรับมาตรการการส่งเสริมในรูปต่างๆ จะต้องมาเป็นทั้งระบบ เช่น ผู้ค้ารถยนต์ต้องพร้อมที่จะผลิตและจำหน่าย สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องมีเพียงพอ มาตรการเกี่ยวกับภาษีจะต้องส่งเสริมการผลิตรถยนต์ และแบตเตอรี่ ทั้งการนำเข้า และการผลิตภายในประเทศ ซึ่งมาตรการทั้งแพคเกจนี้จะดำเนินการภายในสิ้นปีนี้

“หลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ประกาศตัวชัดเจนแล้วว่าจะผลักดันรถยนต์ EV ขึ้นในประเทศของตนเอง และจะผลักดันให้เป็นศูนย์กลางรถยนต์ EV ในภูมิภาคนี้ ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการเป็นศูนย์กลางรถยนต์ EV จะต้องมีความพร้อมในทุกด้าน ซึ่งคาดว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ EV เต็มรูปแบบคาดว่าจะใช้เวลา 5 ปี (ปีก 2563-2567) ในการดำเนินการ” นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ ได้กล่าวถึง แผนการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งกำลังเป็นปัญหาในขณะนี้ และการแก้ปัญหาในระยะยาว กระทรวงพลังงานจะมีการดำเนินการใน 4 เรื่อง คือ 1.เร่งผลักดันน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ให้เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐานของประเทศภายในวันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งการใช้น้ำมัน บี10 มากขึ้น จะช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดจากน้ำมันดีเซลได้ โดยตั้งเป็นที่จะให้มีการใช้ บี10 ถึง 57 ล้านลิตร/วัน

2.การพิจารณาเรื่องน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ซึ่งมีส่วนผสมของเอทานอลที่ผลิตมาจากอ้อย และมันสำปะหลัง ในเดือนพฤศจิกายน จะพิจารณาว่าจะมีน้ำมันแก๊สโซฮอล์ประเภทไหนบ้างที่เหลืออยู่ในตลาด เพราะปัจจุบันมีมากชนิดเกินไป ทำให้ผู้บริโภคสับสน และการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มากขึ้นก็จะใช้ลด PM 2.5 ด้วย

3.มาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV ซึ่งจะออกมาเป็นแพคเกจ ทำให้ลดการใช้น้ำมันลง และ 4.การส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนขึ้นในประเทศไทย โดยใช้วัตถุดิบจากการเกษตรที่เหลือใช้ เช่น ซังข้าวโพด ฟางข้าว หญ้าเนเปียร์ และพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ซึ่งจะทำให้ภาพรวมการผลิตไฟฟ้าของประเทศที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะลดลง และจะมีพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

สำหรับการส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน ในวันพรุ่งนี้ (9 ต.ค.62) จะมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ที่เคยทำโรงไฟฟ้าขนาดเล็กแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ผู้เชี่ยวชาญ ภาคประชาสังคม และอื่นๆ เพื่อเอาแนวคิดทั้งหมดมาขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยคาดว่าเบื้องต้นจะมี 6 จังหวัด ที่มีความพร้อมในเรื่องของวัตถุดิบ และสายส่งที่จะรองรับการซื้อไฟฟ้าในโครงการนี้ และจะมีการเชิญคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) เข้ามาหารือด้วย เพื่อดูว่าบริษัทด้านพลังงานที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการนี้ จะมีวิธีในการส่งเสริมร่วมกับชุมชนอย่างไร ให้เป็นประโยชน์กับชุมชนมากที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้