Last updated: 26 เม.ย 2563 | 516 จำนวนผู้เข้าชม |
กกพ. ส่งความสุขผู้ใช้ไฟรับปีใหม่ กกพ. ตรึง ค่าเอฟทีที่ 11.60 สต. ต่อหน่วย
ผู้ใช้ไฟเฮลั่น! “กกพ.” มอบของขวัญปีใหม่ 2563 ก่อนใคร “สั่ง” ตรึง ค่าเอฟทีที่ -11.60 สต.ต่อหน่วย ส่งผลค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2563 คงเดิม มุ่งเน้นลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศปรับตัวดีขึ้น
นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้คงอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร(ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บเดือนมกราคม – เมษายน 2563 จำนวน -11.60 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย ต่ออีก 4 เดือน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 6,869 ล้านบาท ในการบริหารจัดการค่าเอฟที
ทั้งนี้เงินในการบริหารจัดการเอฟทีในงวด ม.ค.- เม.ย.2563 มาจากเงินที่ได้จากค่าปรับกรณีโรงไฟฟ้าไม่สามารถปฏิบัติได้ตามสัญญา และกรณีขาดส่งก๊าซธรรมชาติ จำนวน 264.97 ล้านบาท และส่วนที่เหลือประมาณ 6,604 ล้านบาท มาจากการกำกับฐานะการเงินให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ กกพ. กำหนด ซึ่งเป็นผลจากการประมาณการค่าเชื้อเพลิงในงวดปัจจุบัน (ก.ย.- ธ.ค. 2562) เทียบกับ ราคาค่าเชื้อเพลิง ณ ปัจจุบัน ยังต่ำกว่าที่ประมาณการที่ตั้งไว้ และทำให้ยังมีเงินคงเหลือในการบริหารจัดการค่าเอฟที
“แนวโน้มปัจจัยหลายตัวที่ส่งผลกระทบต่อค่าเอฟทีปรับตัวดีขึ้นกว่างวดก่อน อาทิ ราคาก๊าซที่มีแนวโน้มลดลง อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น ถึงแม้จะยังไม่ทำให้ค่าเอฟทีปรับลดลงได้ในทันที แต่ก็ทำให้ กกพ. สามารถบริหารจัดการค่าเอฟทีได้ดีขึ้น และด้วยความตระหนักถึงการมุ่งลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และการสนับสนุนภาวะเศรษฐกิจโดยรวมให้ปรับตัวดีขึ้นกกพ.ยังคงต้องบริหารจัดการค่าเอฟทีต่อเนื่อง และมีมติตรึงค่าเอฟทีต่ออีก 4 เดือน” นางสาวนฤภัทร กล่าว
ทั้งนี้ปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟที ในงวด ม.ค.-เม.ย. 2563 ประกอบด้วย
1. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2563 เท่ากับ 65,724 ล้านหน่วย ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2562 ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 64,195 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.38 ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากเข้าสู่ฤดูร้อน
2. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2563 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ร้อยละ 57.71 ถ่านหิน ร้อยละ 17.62 และการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ร้อยละ 14.75
3. แนวโน้มราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับ 266.69 บาทต่อล้านบีทียู ปรับตัวลดลงจากงวดที่ผ่านมา 23.70 บาทต่อล้านบีทียู ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าเอกชน
อยู่ที่ 2,471.60 บาทต่อตัน ปรับตัวลดลงจากงวดที่ผ่านมา 267.71 บาทต่อตัน
4. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนกันยายนเท่ากับ 30.60 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่ากว่าช่วงที่ประมาณการในงวดเดือน ก.ย.- ธ.ค. 2562 ซึ่งใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ 31.80 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
8 พ.ย. 2567
10 พ.ย. 2567
8 พ.ย. 2567
8 พ.ย. 2567