Last updated: 26 เม.ย 2563 | 1065 จำนวนผู้เข้าชม |
กฟผ. ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงาน “พลังงานสรรค์สร้างพลังแผ่นดิน เพื่อการฟื้นฟูโลก”
แสดงเจตนารมณ์ในการน้อมนำศาสตร์พระราชาฯ มาพัฒนาชุมชน มุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก
นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “พลังงานสรรค์สร้างพลังแผ่นดิน เพื่อการฟื้นฟูโลก (Energy Drive Ecosystem)” และร่วมเป็นสักขีพยานในการแสดงเจตนารมณ์ความร่วมมือการสืบสานศาสตร์พระราชาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมาย ความยั่งยืนโลก ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และอีก 5 หน่วยงาน คือ ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, มูลนิธิรักษ์ดินน้ำ Earth Safe Foundation และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยมีนายวรานนท์ ยิ้มมงคล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. หัวหน้าส่วนราชการ ชุมชนแม่แจ่ม ชุมชนรอบเขื่อน โรงไฟฟ้า จิตอาสา 904 วปร. และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมงานกว่า 500 คน ณ เขื่อนภูมิพล อำเภอสามเงา จังหวัดตาก
นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า งาน “พลังงานสรรค์สร้างพลังแผ่นดิน เพื่อการฟื้นฟูโลก” นับเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหลายภาคส่วน ทั้งชุมชน หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การขยายความร่วมมือในทุกภาคีเครือข่ายต่อไป โดยการน้อมนำศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่งกระทรวงพลังงานในฐานะผู้รับผิดชอบด้านการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการ ได้มีนโนบาย Energy For All เพื่อมุ่งสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานในพื้นที่และเป็นเจ้าของพลังงาน โดยบูรณาการแนวคิดเพื่อแก้ปัญหา พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน บริหารจัดการพื้นที่แบบโคก หนอง นา โมเดล เพื่อพัฒนาน้ำ อาหาร และพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์และเป็นการใช้พื้นที่ของชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ด้าน นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนทุกโครงการของ กฟผ. อาทิ โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงการปลูกป่า กฟผ. ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 และน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” พระราชกรณียกิจของพระบรมราชชนก มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลทั้งด้านคน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
สำหรับการแสดงเจตนารมณ์ความร่วมมือการสืบสานศาสตร์พระราชาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก ระหว่าง กฟผ. กระทรวงพลังงานและอีก 5 หน่วยงาน ภายใต้กรอบระยะเวลา 3 ปี เป็นการแสดงถึงความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานหลายภาคส่วนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานที่มุ่งแก้ปัญหาใน 3 ประเด็นหลัก คือ น้ำ อาหาร และพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงตามเป้าหมายความยั่งยืนโลก (SDGs) โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นและประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็งต่อไป ทั้งนี้ กฟผ. มีแผนในการน้อมนำศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมาพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำในบริเวณ “เขื่อน 7 พระนาม 3 โรงไฟฟ้า” ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรก, เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์, เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี, เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี, เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น, เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ, โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง, โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา
นอกจากการแสดงเจตนารมณ์ความร่วมมือแล้ว ยังมีการแสดงพลังแห่งความร่วมมือจากทุกภาคีเครือข่ายด้วยกิจกรรมโบกธงแสดงเจตนารมณ์สืบสานศาสตร์พระราชาเนื่องในวันดินโลก ณ บริเวณสันเขื่อนภูมิพล และมีกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “เป้าหมายโลกคือเป้าหมายเราด้วยศาสตร์พระราชา” โดยผู้ทรงคุณวุฒิจาก 4 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน รศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. ซึ่งได้บรรยายถึงความสำคัญพร้อมผลักดันประชาชนให้ร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาชุมชนสู่เป้าหมายความยั่งยืนระดับโลก และยังมีการจัดแสดงนิทรรศการและผลงานศาสตร์พระราชาของชุมชน สิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมการเกษตร พลังงานเพื่อชุมชน นิทรรศการผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ของเยาวชน อีกด้วย
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีพิธีมอบ “52,000 ฝายถวายพ่อ” ซึ่งดำเนินการโดยชาวแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดย กฟผ. มีส่วนสนับสนุนการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรผู้นำการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (นขพ.) ระดับผู้นำท้องถิ่น 7 ตำบล 104 หมู่บ้าน ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ จนเกิดการขับเคลื่อนงานในรูปแบบจิตอาสาภาคประชาชนที่ร่วมมือกันทำงานในพื้นที่และสร้างฝายภูมิปัญญาชาวบ้านได้มากกว่า 52,000 ฝาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดูแลและรักษาพื้นที่ต้นน้ำ ป้องกันไม่ให้เกิดตะกอนดินตกลงไปในแหล่งน้ำและเกิดการทับถม จนก่อให้เกิดปัญหาในพื้นที่ปลายน้ำทำให้มีน้ำตื้นเขิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ของเขื่อนต่อไป ซึ่งในวันนี้ กฟผ. และบริษัทในกลุ่ม กฟผ. ได้แก่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมมอบเงินสนับสนุนการสร้างฝาย จำนวน 100,000 บาท โดยมีผู้แทนจาก 3 หมู่บ้านในอำเภอแม่แจ่ม เป็นผู้รับมอบ และมอบเงินสนับสนุนโครงการดับหมอกควัน ดับไฟป่า ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จำนวน 300,000 บาท โดยมีนายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ นายอำเภอแม่แจ่ม เป็นผู้รับมอบ เพื่อนำไปช่วยเหลือกิจกรรมของชาวแม่แจ่มต่อไป พร้อมกันนี้ยังมีกิจกรรมร่วมพลังเอามื้อสามัคคีสร้างฝาย โดยจิตอาสา 904 วปร. ร่วมกับภาคีเครือข่ายจิตอาสาพัฒนา ร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำ ณ ห้วยแก่ง เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก
16 ต.ค. 2567
15 ต.ค. 2567
16 ต.ค. 2567
15 ต.ค. 2567