สถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของปี 2562

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  1191 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของปี 2562

สถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของปี 2562


ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันของปี 2562 (มกราคม –ธันวาคม 2562) เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2561 โดยกลุ่มน้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 กลุ่มดีเซลหมุนเร็ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 น้ำมันอากาศยานเจทเอ1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 และ LPG ลดลงร้อยละ 0.2 ในขณะที่ NGV ลดลงร้อยละ 11.7

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 32.2 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 3.7 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมันกลุ่มเบนซินเกือบทุกชนิดยกเว้นน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ 91 โดยน้ำมันเบนซินมีการใช้ลดลงเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1.0 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 12.8 สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.3 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นร้อยละ 4.3 โดยแก๊สโซฮอล์อี 20 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมากที่สุด อยู่ที่ 6.5 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 เนื่องจากมีราคาต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.98 บาท/ลิตร จึงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้เพิ่มขึ้น รองลงมาเป็นแก๊สโซฮอล์ อี85 มีปริมาณการใช้ เฉลี่ยอยู่ที่ 1.3 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ถัดมา แก๊สโซฮอล์ 95 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 13.9 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 แต่สำหรับแก๊สโซฮออล์ 91 มีปริมาณการใช้ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 9.6 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 4.2 เนื่องจากแก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 มีราคาใกล้เคียงกันโดยมีส่วนต่างเพียง 0.27 บาท/ลิตร จึงทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้น้ำมันชนิดที่มีค่าออกเทนสูงกว่า

การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 64.4 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 1.8 โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 มีปริมาณการใช้ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 59.9 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 5.4 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 0.1 ล้านลิตร/วัน (เริ่มมีการจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพ.ค.62) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 ล้านลิตร/วัน (เริ่มมีการจำหน่ายตั้งแต่เดือน ก.ค.61) โดยการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี10 และบี20 ภาครัฐได้ใช้มาตรการกำหนดส่วนต่างราคาขายปลีกให้ถูกกว่าดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2 และ 3 บาท/ลิตร ตามลำดับ

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 19.3 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 0.8

การใช้ LPG เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 17.8 ล้านกก./วัน ลดลงจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 0.2 แต่เมื่อพิจารณาปริมาณการใช้แยกประเภท พบว่า การใช้ LPG ในภาคปิโตรเคมีมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7.4 ล้านกก./วัน คิดเป็นร้อยละ 7.9 แต่การใช้ในประเภทอื่นๆ มีปริมาณการใช้ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ปีก่อน โดยภาคครัวเรือน มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 5.8 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 1.8 ภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 1.8 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 3.9 และ ภาคขนส่งลดลงมากที่สุด มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 2.8 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 12.6

การใช้ NGV เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 5.4 ล้านกก./วัน ลดลงจากปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 11.7 โดยมีสาเหตุมาจากการปรับราคา NGV สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไปให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ทำให้ประชาชนและรถบรรทุกสินค้าหันไปใช้ดีเซลหมุนเร็วบี 20 ทดแทน ส่งผลให้สถานีบริการ NGV นอกแนวท่อทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง มีปริมาณรวมลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 854,940 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 10.1 โดยมีมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบคิดเป็น 54,982 ล้านบาท/เดือน สำหรับน้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 104,118 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 73.8 และมีมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 7,032 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน พบว่า มีการนำเข้าน้ำมันเบนซิน ดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา และน้ำมันอากาศยานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นและ Emergency Shutdown ทำให้ต้องลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเข้ากลั่นกระทบต่อปริมาณการผลิตของผลิตภัณฑ์ทุกชนิด จึงต้อง มีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อไม่ให้กระทบต่อความต้องการใช้ในประเทศ ในขณะที่มีการนำเข้า LPG ลดลง เนื่องจากมีความต้องการใช้ในประเทศลดลง

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป มีปริมาณลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 165,605 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราลดลง ร้อยละ 22.6 โดยมีมูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ย 11,104 ล้านบาท/เดือน โดยพบว่า มีการส่งออกน้ำมันเบนซิน ดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยานและก๊าด และ LPG ลดลง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้