GPSC ทุ่ม 1,100 ล้านบาท สร้างโรงผลิตแบตเตอรี่ฯ ต้นแบบ

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  639 จำนวนผู้เข้าชม  | 

GPSC ทุ่ม 1,100 ล้านบาท สร้างโรงผลิตแบตเตอรี่ฯ ต้นแบบ

GPSC ทุ่ม 1,100 ล้านบาท สร้างโรงผลิตแบตเตอรี่ฯ ต้นแบบแห่งแรกของไทย เริ่มผลิตปลายปี 63

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า GPSC ได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ Semi Solid กับ มร.ชาเกฮิสะ มูรากิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยทากาซาโก จำกัด (Thai Takasago Co., Ltd.) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่จากประเทศญี่ปุ่น มูลค่าสัญญาประมาณ 295 ล้านบาท เมื่อรวมอุปกรณ์ที่จัดซื้อโดย GPSC แล้วจะมีมูลค่าโครงการกว่า 1,100 ล้านบาท โดยโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นที่ 12 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจังหวัดระยอง คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการผลิตภายในเดือนธันวาคม 2563 นับเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งแรกของประเทศไทยที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี Semi Solid

โดยตั้งเป้าว่าในระยะแรกจะมีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ที่ 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) และในอนาคตมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 100 MWh หากตลาดมีความต้องการเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าน่าจะใช้เวลาในการขยายไม่เกิน 1ปี

นายชวลิต กล่าวว่า ส่วนในระยะยาวจะพิจารณาสร้างโรงงานเชิงพาณิชย์แห่งใหม่ในที่ตั้งอื่น กรณีที่ขยายโครงการผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ (Giga Scale) โดยคาดว่าจะเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรที่เป็นลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมด้านพลังงานที่จะรองรับกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมทั้งทิศทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทชิตี้ ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและการใช้พลังงานสะอาดในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับธุรกิจ ซึ่งการพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน ได้นำเอาเทคโนโลยี Semi Solid ของ บริษัท 24M Technologies จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทฯ ได้รับลิขสิทธิ์และจัดจำหน่ายในประเทศและภูมิภาค โดยในเบื้องต้นจะผลิตแบตเตอรี่ป้อนให้กับ กลุ่ม ปตท. และพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตตามความต้องการของตลาดไปสู่ระดับการเชื่อมโยงการซื้อขายในภูมิภาค (Grid Scale) รวมถึงการเข้าไปทำตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากทิศทางของการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศในอาเซียน มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยเฉพาะ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้