กพช. ไฟเขียว 4 แผนหลักด้านพลังงาน

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  887 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กพช. ไฟเขียว 4 แผนหลักด้านพลังงาน

กพช. ไฟเขียว 4 แผนหลักด้านพลังงาน แผนการบริหารกองทุนพลังงาน
เร่งกระจายปั๊มชาร์จไฟรถ EV ทั่วประเทศ ผ่านเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน

ที่ประชุม กพช. เห็นชอบร่างแผนด้านพลังงานที่ปรับปรุงใหม่ 4 ฉบับ ทั้งแผนผลิตไฟฟ้า (PDP) แผนพลังงานทดแทน (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และแผนด้านก๊าซ Gas Plan เพื่อสนับสนุนนโยบาย Energy For All พร้อมเดินหน้าผุดสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถ EV สนับสนุนโครงการ Sandbox และให้คงอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานต่อไปอีก 2 ปี รวมทั้งผ่านหลักเกณฑ์โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการประชุมและเห็นชอบนโยบายพลังงานในหลายด้าน โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมว่ามีประเด็นสำคัญสามารถแบ่งกลุ่มเป็นด้านต่างๆ ดังนี้

- ด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ ที่ประชุม กพช. เห็นชอบร่างแผนด้านพลังงานสำคัญ 4 แผนที่ได้ปรับปรุงใหม่ ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (AEDP 2018) แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561 -2580 (EEP 2018) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561 - 2580 (Gas Plan 2018) ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยมีสาระสำคัญ คือ

1. แผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมปี 2580 คงเดิมที่ 77,211 เมกะวัตต์ และยังคงเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ไว้ตลอดแผน ที่ 56,431 เมกะวัตต์ โดยมีสัดส่วนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าใกล้เคียงแผนเดิม คือ ก๊าซธรรมชาติ 53% พลังงานหมุนเวียน 21%(เดิม 20%) ถ่านหินและลิกไนต์ 11%(เดิม12%) พลังน้ำต่างประเทศ 9% และจากการอนุรักษ์พลังงาน 6% และจะปรับแผนการจ่ายไฟฟ้าของโรงฟ้าพลังงานหมุนเวียน และแผนการปลดโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลบางโรงให้มีความเหมาะสม เช่น ลดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลง และเพิ่มเป้าหมายโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 69 เมกะวัตต์ การเพิ่มนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กำลังผลิตรวม 1,933 เมกะวัตต์ การปรับแผนโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐภาคใต้ เริ่มจ่ายไฟเข้าระบบออกไปเป็นปี 2565–2566 ปีละ 60 เมกะวัตต์ รวมถึงเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม จากเดิมปี 2577 มาเป็นปี 2565
2. แผน AEDP 2018 ปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตความร้อนจากเชื้อเพลิงชีวมวล ปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตความร้อนจากไบโอมีเทน (Bio-methane Gas) แต่ยังคงเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ 18,696 เมกะวัตต์ แต่มีการปรับเพิ่มโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเข้ามาในระบบ ในปี 2563 – 2567 รวม 1,933 เมกกะวัตต์ จากเชื้อเพลิงชีวมวล, ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย, ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน และ Solar Hybrid โดยคงเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ในปี 2580 และยังคงเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเท่าเดิมที่ 18,696 เมกะวัตต์
3. แผน EEP 2018 โดยมี 3 กลยุทธ์ คือ ภาคบังคับ ภาคส่งเสริมและภาคสนับสนุน โดยการดำเนินงานจะมุ่งเน้นไปที่เป้าหมาย 5 สาขาเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ (1) อุตสาหกรรม (2) ธุรกิจการค้า (3) บ้านอยู่อาศัย (4) เกษตรกรรม และ (5) ขนส่ง ยังคงรักษาระดับเป้าหมายการลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity: EI) ลงร้อยละ 30 ภายในปี 2580 เมื่อเทียบกับปี 2553 สามารถลดการใช้พลังงาน 49,064 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) โดยใช้กลยุทธ์และมาตรการต่างๆ ที่มีอยู่เดิม และเพิ่มเติมมาตรการด้านวัตกรรมเพื่อต่อยอดและรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และรูปแบบการใช้พลังงาน รวมถึงส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคเกษตรกรรมเพื่อให้สอดคล้องนโยบาย Energy For All ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ฐานรากอย่างยั่งยืน คาดว่าจะก่อให้เกิดผลประหยัดพลังงานของประเทศตลอดแผนรวม 54,371 ktoe ประหยัดเงินตรา 815,571 ล้านบาท ช่วยลดการจัดหาโรงไฟฟ้าได้ประมาณ 4,000 เมกะวัตต์ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 170 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Mt-CO2)
4. Gas Plan 2018 ความต้องการใช้ก๊าซในภาพรวมในปี 2580 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.7% ต่อปี หรืออยู่ที่ 5,348 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.1% แนวโน้มจะใช้เพิ่มขึ้นในภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การใช้ในโรงแยกก๊าซและภาคขนส่งลดลง ทั้งนี้ สถานการณ์ก๊าซธรรมชาติได้เปลี่ยนแปลงไปจาก Gas Plan เดิมโดยก๊าซธรรมชาติในประเทศสามารถผลิตได้ต่อเนื่องหลังจากการประมูลแหล่งก๊าซบงกชและเอราวัณเป็นผลสำเร็จ ทำให้ความต้องการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ต้องจัดหาเพิ่มเติมตามร่างแผนใหม่ในช่วงปลายแผนอยู่ที่ระดับ 26 ล้านตันต่อปี น้อยกว่าเดิมที่คาดไว้ที่ 34 ล้านตันต่อปี ในปี 2580 เป็นโครงข่ายท่อบนบก 22 ล้านตันต่อปี และความต้องการภาคใต้ 4 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานจัดทำแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้อง Gas Plan 2018 และศึกษาทบทวนโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (FSRU) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนเพื่อบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และนำมาเสนอ กพช. ต่อไป

- ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงาน ที่ประชุม กพช. เห็นชอบตามแนวทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงาน คือ (1) แนวทางการส่งเสริมพื้นที่ติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station Mapping) โดยกรอบนโยบายครอบคลุมพื้นที่ชุมชน สถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงาน ถนนสายหลักระหว่างเมือง สำหรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น หรือรองรับที่เดินทางมาจากเมืองอื่น โดยให้ภาครัฐและเอกชนสามารถยื่นขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้ เพื่อให้มีจำนวนสถานีที่เพียงพอต่อความต้องการ กระจายตัวอย่างทั่วถึง สร้างความเชื่อมั่นผู้ใช้รถ EV และกระตุ้นตลาด EV ในภาพรวม (2) ผลการศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับระบบขนส่งสาธารณะ (Mass Transit) โดยเป็นอัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ตลอดทั้งวัน มีค่าเท่ากับอัตราค่าพลังงานไฟฟ้า ช่วงเวลา Off Peak ของผู้ใช้ไฟฟ้าตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปัจจุบันประเภท 2.2 กิจการขนาดเล็ก อัตราตามช่วงเวลา (Time Of Use (TOU) หรือเท่ากับ 2.6369 บาทต่อหน่วย (สำหรับแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่า 22 kV) (3) โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ซึ่งได้แก่ 1) นวัตกรรมซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer Energy Trading & Bilateral Trading 2) นวัตกรรมบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่เล็กๆ แบบครบวงจร Micro Grid 3) นวัตกรรม Battery Storage 4) โครงสร้างอัตราค่าบริการใหม่ 5) รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ 6) นวัตกรรมบริการจัดการก๊าซธรรมชาติแบบใหม่ และ 7) นวัตกรรมด้านพลังงานอื่นๆ โดยที่ประชุม กพช. เห็นชอบให้ผ่อนปรนนโยบายโครงสร้างกิจการไฟฟ้าสำหรับผู้ร่วมโครงการเป็นการชั่วคราว เพื่อให้สามารถซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชนผ่านโครงข่าย ของการไฟฟ้า โดยใช้อัตราค่าบริการตามที่ กกพ. กำหนด ภายใต้กำกับของ กกพ.ร่วมกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งในพื้นที่ดำเนินการ ERC Sandbox มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมเพื่อใช้ในการทดสอบนวัตกรรมไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ ไม่เกิน 2 ปี โดยผู้ร่วมโครงการจะไม่ได้รับผลกำไรเชิงการค้าจากการดำเนินโครงการ

- ด้านการบริหารกองทุนพลังงาน ที่ประชุม กพช. เห็นชอบ ดังนี้
1. แผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามข้อเสนอของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563-2567 โดยมุ่งไปที่ 3 ยุทธศาสตร์สำคัญคือ (1) ยุทธศาสตร์การรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันฯ ในกรณีเกิดวิกฤตด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563-2567 มีแนวทาง อาทิ การแยกบัญชีตามกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลุ่มดีเซล เบนซิน และก๊าซปิโตรเลียมเหลวเพื่อหลีกเลี่ยงอุดหนุนราคาข้ามกลุ่มเชื้อเพลิง มีกรอบความต่างของราคาเชื้อเพลิงหลักของกลุ่มดีเซลและเบนซิน การชดเชยราคาน้ำมันฯ เมื่อเกิดวิกฤตเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ทบทวนหลักเกณฑ์บริหารอย่างน้อย ปีละครั้ง โดยมีแบบจำลองสถานการณ์วิกฤตในระดับต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการ (2) ยุทธศาสตร์การลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันฯ ที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ในช่วงปี 2563 - 2565 ซึ่งตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2562 กำหนดให้จ่ายเงินชดเชยได้ต่อไปเป็นเวลา 3 ปีนับจากวันกฎหมายบังคับใช้ และต่อได้อีกไม่เกิน 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 2 ปี โดยจะมีหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและมาตรการเพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันฯ ที่มีส่วนผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในกลุ่มเบนซินและกลุ่มดีเซล และ (3) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ ตามหลักธรรมาภิบาล โดยบริหารจัดการตามหลักนิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ หลักความคุ้มค่า เพื่อบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯที่มีมาตรฐาน มีธรรมาภิบาล
2. การกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยให้อัตราคงเดิมที่ 0.1000 บาทต่อลิตร ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 2 ปี (22 เมษายน 2563 – 21 เมษายน 2565) เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการต่างๆ ในเรื่องต้นทุนรายจ่ายด้านพลังงาน จากการพิจารณาระดับฐานะการเงินที่ไม่กระทบภารกิจของกองทุนฯ ในการสนับสนุนการดำเนินโครงการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายพลังงาน ซึ่งสถานะการเงินของกองทุนฯ มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับประมาณการรายจ่ายตามกรอบบวงเงินที่อนุมัติให้จัดสรรปี 2563 – 2566 ปีละ 10,000 ล้านบาท ภายในวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท

- ด้านนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เห็นชอบการปรับปรุงหลักการและรายละเอียด โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ดังนี้ 1) โรงไฟฟ้าชุมชนให้เน้นผลิตไฟฟ้าตามศักยภาพของเชื้อเพลิงที่มีในพื้นที่ มีขนาดเหมาะสมทางด้านวิศวกรรมและความต้องการใช้ไฟฟ้าของระบบไฟฟ้า และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสม และกระทบค่าไฟฟ้าของระบบไฟฟ้าในระดับที่รับได้เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่เศรษฐกิจฐานรากได้รับ 2) โรงไฟฟ้าชุมชน ให้มีส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ให้กับ “กองทุนโรงไฟฟ้าชุมชน” (ซึ่งจะมีการจัดตั้งและกำหนดระเบียบการใช้จ่ายเงินขึ้นมาใหม่ โดยให้นำเสนอให้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ) และ 3) โครงการ Quick win เป็นโครงการที่ให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายในระยะเวลา 12 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้