Last updated: 13 พ.ค. 2563 | 744 จำนวนผู้เข้าชม |
BGRIM มีกำไรไตรมาส 1 โต 54%
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำของไทย เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 11,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักมาจากขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องถึง 944 เมกะวัตต์ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จากสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 4 โครงการในปีก่อน และการเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 2 แห่ง ได้แก่ โครงการ SPP1 ในปี 2562 และโครงการโรงไฟฟ้าอ่างทองเพาเวอร์ ขนาด 123 เมกะวัตต์ ในเดือนมีนาคม 2563 นอกจากนี้ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมยังคงมีความแข็งแกร่งในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน และมีการทยอยจ่ายไฟให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมใหม่ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟใหม่รวม 26 เมกะวัตต์ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ขณะที่อัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มสู่ระดับที่ 29.2% จากการบริหารต้นทุนที่ดีขึ้น ผลจากทยอยปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซเป็นโครงการที่ 3 ในช่วงต้นปีนี้ และการรับรู้ผลการดำเนินงานโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนามที่ให้อัตรากำไร EBITDA ที่สูง
โดยมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (ไม่รวมผลกำไร/ขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากมูลค่าทางบัญชีของเงินกู้สกุลต่างประเทศ) อยู่ที่ 1,158 ล้านบาท เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ 682 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เนื่องจากบริษัทกู้เงินสกุลต่างประเทศเพื่อป้องกันความเสี่ยงในส่วนของรายได้สกุลต่างประเทศ (natural hedge) โดยในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ จึงเกิดรายการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากอัตราแลกเปลี่ยน 886 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีที่ไม่กระทบกระแสเงินสด เป็นสาเหตุหลักทำให้กำไรสุทธิจากอยู่ที่ 159 ล้านบาท และ 81 ล้านบาทในส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่
นางปรียานารถ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีกระแสเงินสดในมือที่แข็งแกร่งถึง 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ และการลงทุนตามแผน ขณะเดียวกันบริษัทยังได้รับวงเงินสำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม 4 พันล้านบาท รวมเป็น 9 พันล้านบาท พร้อมรับมือหากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19 มีความยืดเยื้อ
นอกจากนี้ รายได้ส่วนใหญ่มาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิค-19 ส่วนลูกค้าอุตสาหกรรมยังมีลูกค้าใหม่ทยอยเข้ามาอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้รวม 30 เมกะวัตต์
และยังมีแผนเชิงรุกในการลดต้นทุน คาดว่าจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 34 ล้านบาท จากการขยายอายุการใช้งานของชิ้นส่วนอุปกรณ์บางชนิด และการประหยัดต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาทต่อปี จากการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซของโครงการต่างๆ ในช่วงปี 2562-2563
ขณะเดียวกันยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ray Power ในประเทศกัมพูชา กำลังการผลิต 39 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำหลักชัย กำลังการผลิต 13 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมบ่อวิน วินด์ฟาร์ม 1&2 กำลังการผลิต 16 เมกะวัตต์ มีกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4 ปีนี้ ถึงไตรมาส 1 ปี 2564
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567