Last updated: 14 ส.ค. 2563 | 579 จำนวนผู้เข้าชม |
ราช กรุ๊ป เตรียมพร้อม 11,300 ล้านบาทรุกลงทุนครึ่งปีหลัง
พร้อมรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าอีก 3 โครงการ
บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เดินหน้าลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมาย 780 เมกะวัตต์ในปีนี้ โดยในครึ่งปีแรกบริษัทฯ สามารถลงทุนขยายกำลังผลิตทั้งโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ 4 โครงการ และส่วนขยายของโรงไฟฟ้าเดิมอีก 1 โครงการ ส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 242.62 เมกะวัตต์ ดันกำลังผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้นเป็น 8,177.68 เมกะวัตต์ ด้านธุรกิจระบบสาธารณูปโภค บริษัทฯ ได้ลงทุนเพิ่มทุน 280 ล้านบาทในบริษัท สมาร์ท อินฟราเนท จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายใยแก้วนำแสง (บริษัทฯถือหุ้นร้อยละ51) เพื่อใช้ซื้อสินทรัพย์จากบริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะเป็นฐานธุรกิจในการสร้างรายได้นับจากนี้เป็นต้นไป สำหรับผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทฯ มีกำไรก่อนผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 2,516.29 ล้านบาท และกำไรส่วนของบริษัทฯ จำนวน 2,434.98 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 34.1 จากงวดเดียวกันของปี 2562 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบมาจากการรับรู้ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน การหยุดเดินเครื่องตามแผนการซ่อมบำรุงของโรงไฟฟ้าหงสา และโรงไฟฟ้าราชบุรี ซึ่งส่งผลให้รายได้ลดลง อย่างไรก็ตาม รายได้จากโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น ที่ลงทุนซื้อกิจการเมื่อปลายที่แล้ว และโรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น ที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เมื่อกลางปีที่แล้ว ยังส่งผลดีอย่างมีนัยสำคัญต่อรายได้รวมของบริษัทฯในครึ่งปีแรกนี้ด้วย
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในครึ่งหลังของปีนี้บริษัทฯ จะเริ่มรับรู้รายได้จาก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการส่วนขยายของโรงไฟฟ้านวนคร กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำ 10 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งจะจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ปัจจุบันมีลูกค้าที่ได้เจรจาลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 9 ราย โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน กำลังการผลิต 214.2 เมกะวัตต์ ในออสเตรเลีย ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท Alinta Sales Pty Ltd. รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อน Thang Long ในเวียดนามหลังจากที่บริษัทฯ ลงทุนในกองทุน An Binh Energy and Infrastructure Fund (ABEIF) นอกจากนี้ บริษัทฯ จะเดินหน้าเจรจาการร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักและพลังงานทดแทนต่างประเทศที่มีอยู่ในมือขณะนี้ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 400 เมกะวัตต์ และบรรลุเป้าหมายปีนี้ 537 เมกะวัตต์ได้ตามแผน ส่วนธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน วางแผนที่จะสร้างฐานและขยายฐานลูกค้าเพื่อสร้างรายได้ของบริษัทร่วมทุนที่ดำเนินธุรกิจด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัล คือ บริษัท สมาร์ท อินฟราเนท จำกัด และบริษัท ติงส์ ออน เน็ท จำกัด ซึ่งการเติบโตของธุรกิจมีแนวโน้มที่ดีสืบเนื่องจากวิถีปกติใหม่หลังวิกฤติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
“ตามแผนการลงทุนของบริษัทฯ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนโครงการใหม่และโครงการที่ได้ร่วมลงทุนแล้วประมาณ 15,000 ล้านบาท ในครึ่งปีแรกบริษัทฯ ได้ใช้เงินลงทุนแล้ว 3,700 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจำนวน 11,300 ล้านบาทจะใช้ลงทุนโครงการที่ลงทุนช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งที่สามารถรองรับการลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างมูลค่ากิจการของบริษัทฯให้เติบโตถึงเป้าหมายที่ 200,000 ล้านบาท ในปี 2566 ได้อย่างเต็มที่” นายกิจจา กล่าว
สำหรับ ผลการดำเนินรอบ 6 เดือนแรก ปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้รวม จำนวน 20,767.79 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้จากการขายและบริการและรายได้ตามสัญญาเช่าการเงินของโรงไฟฟ้าที่บริษัทฯ ควบคุมจำนวน 18,321.55 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 88.22 ส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุนและเงินปันผล จำนวน 2,194.56 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.57 และรายได้จากดอกเบี้ยและอื่นๆ จำนวน 251.68 ล้านบาท
ฐานะการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 105,446.18 ล้านบาท หนี้สินจำนวน 46,332.34 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 59,113.84 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังมีศักยภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน 0.46 เท่า อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (DSCR) 5.77 เท่า และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น 7.97%
8 พ.ย. 2567
8 พ.ย. 2567
8 พ.ย. 2567
10 พ.ย. 2567