Last updated: 16 ก.พ. 2564 | 805 จำนวนผู้เข้าชม |
ราช กรุ๊ป ยืนยันโครงการใน สปป.ลาว กระทบน้อย
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้ทำหนังสือขอชะลอการจ่ายค่าไฟฟ้ามายังผู้ประกอบการที่ผลิตไฟฟ้าใน สปป.ลาว มีผลกระทบต่อโครงการโรงไฟฟ้าของ ราช กรุ๊ป ที่ตั้งอยู่ใน สปป. ลาว เล็กน้อย เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา นอกจากได้ค่าไฟฟ้าแล้วยังมีการจ่ายค่า Mining Fee ทำให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการใน สปป.ลาว นอกจากนี้ ทาง สปป.ลาว ยังได้มีการจัดหาเงินกีบ เข้ามาทดแทนในส่วนของเงินสกุลดอลลาร์ที่จะต้องจ่ายให้กับผู้ดำเนินการ ซึ่งในส่วนของ ราช กรุ๊ป เป็นเงินประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเกิดขึ้นในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ทำให้ในส่วนของเงินกีบที่ได้รับเข้ามา มีการเจรจานำไปจ่ายให้กับ Contractor ที่ทำโครงการได้ นอกจากนี้ยังมีบางส่วนที่ยังจ่ายอยู่เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนกรณีกระแสข่าวที่กระทรวงพลังงานกำลังจะผลักดันให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เพิ่มขึ้นอีก 2,300 เมกะวัตต์ อยู่ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือรับซื้อไฟฟ้าไทย-ลาว ซึ่งต้องมีการรับซื้ออีกประมาณ 3,500 เมกะวัตต์ กระทรวงพลังงานจึงได้เรียกให้ผู้พัฒนาโครงการทั้งหมดเสนอโครงการให้กระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพิจารณา ซึ่งการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จะพิจารณาบนพื้นฐานว่าโครงการมีความพร้อมในการดำเนินการ มีค่าไฟฟ้าถูกที่สุด และมีระบบสายส่งรองรับในพื้นที่อย่างเพียงพอหรือไม่
ซึ่งทาง ราช กรุ๊ป ได้มีการเสนอโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง ที่ตั้งอยู่ทางลาวใต้ เนื่องจากบริเวณนั้นได้มีการลงทุนในระบบที่มีกำลังการส่งเหลือสามารถที่จะเพิ่มการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ ส่วนตัวจึงเห็นว่า การรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว นอกจากเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว ควรพิจารณาเปรียบเทียบด้วยว่าแต่ละโครงการมีที่ตั้งอยู่ในบริเวณใด หากจะสร้างโครงการอยู่บนลำน้ำโขง จะต้องมีการก่อสร้างสายส่งเพิ่มเติมเพื่อรองรับโครงการใหม่ แต่หากเป็นโครงการทีเกิดขึ้นในลาวใต้ ก็สามารถใช้สายส่งอุบลราชธานี 3 ได้เลย โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม
นายกิจจา กล่าวต่อว่า ในปี 2564 บริษัทฯ ได้จัดสรรงบประมาณ 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนในโครงการเดิม 8,000 ล้านบาท และลงทุนในโครงการใหม่ 7,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีกำลังการผลิตอีก 700 เมกะวัตต์ มาจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก 455 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 245 เมกะวัตต์ ซึ่งใน 700 เมกะวัตต์ จะเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (M&A) แล้ว 350 เมกะวัตต์ เพื่อเสริมกระแสเงินสดและรายได้ของบริษัทฯ ให้มั่นคงมากขึ้น อีกทั้งขยายโอกาสการลงทุนในตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่ธุรกิจพลังงานทดแทนเติบโต โดยในปีนี้จะพยายามปิดดีลให้ได้ 5 โครงการ
หากดำเนินการได้ตามเป้าหมายจะทำให้กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นเป็น 8,874 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน 8,174 เมกะวัตต์ โดยตั้งเป้าว่าในปี 2568 จะมีกำลังการผลิตประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ โดยเป็นพลังงานทดแทน 2,500 เมกะวัตต์
สำหรับธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านพลังงานก็จะขับเคลื่อนโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาให้ไปสู่การร่วมทุนและดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การร่วมทุนนวัตกรรมด้านไฟฟ้ากับกลุ่ม กฟผ. ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามจัดตั้งบริษัทร่วมทุนได้ในปีนี้ โครงการจัดตั้งโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่งในประเทศ และสปป. ลาว และโครงการจัดหาเชื้อพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งกำลังจะมีการนำเสนอนโยบายเรื่องนี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มี.ค. นี้ หลังจากนั้นก็จะดำเนินการตามแผนต่อไป
บริษัทฯ ยังสนใจที่จะลงทุนในโครงการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ร่วมกับกองทัพบกในการศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพ เป็นที่ราชพัสดุที่ให้กองทัพบกดูแล เพื่อก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หากผลการศึกษาแล้วเสร็จก็จะมีการหารือกับ กฟผ. ว่าจะร่วมกันดำเนินการอย่างไร
สำหรับการที่บริษัทได้เข้าไปซื้อหุ้น บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ประมาณ 25% ได้มีการศึกษาอย่างรอบคอบแล้วว่า BAFS จะมีการเติบโตในอนาคต เพราะมีแผนที่จะปรับโครงสร้างธุรกิจโดยมีการขยายไปในธุรกิจพลังงานทดแทน และธุรกิจดิจิทัล นอกจากนี้ ธุรกิจบริการเติมน้ำมันให้กับอากาศยานเป็นธุรกิจที่ดำเนินการเพียงรายเดียว แม้ว่าในปัจจุบันจะได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว
ด้านโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่กระทรวงพลังงานกำลังจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอโครงการในเร็วๆ นี้ ได้มีการเซ็น MOU ไว้ 2 โครงการ เป็นโครงการชีวมวล เน้นตั้งทางภาคใต้ และที่มีการประกาศจะรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานลมเพิ่มเติม บริษัทฯ ก็อยู่ระหว่างศึกษาศักยภาพของพื้นที่และความเป็นไปได้ในการลงทุน
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2563 มีกำไรสุทธิ 6,286.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% จากปี 2562 โดยได้รับแรงหนุนจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าหงสาและกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่ดีขึ้นจากปีที่แล้ว รวมทั้งมีการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังความร้อน Thang Long ในเวียดนาม ซึ่งบริษัทฯ ลงทุนผ่านกองทุน ABIEF เมื่อปีก่อน สำหรับรายได้รวมปี 2563 (ไม่รวมค่าเชื้อเพลิง) 16,155.92 ล้านบาท
ในปี 2564 บริษัทฯ จะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปีนี้อีก 4 โครงการ รวมกำลังผลิตตามการถือหุ้น 537.04 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น 149.94 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 70%) โรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเล็กเตอร์ 226.8 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 100%) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว อินโดนีเซีย 145.15 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 49%) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม Thanh Phong เวียดนาม 15.15 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 51%)
3 ก.ค. 2568
3 ก.ค. 2568
3 ก.ค. 2568
3 ก.ค. 2568