บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

Last updated: 2 ก.ค. 2564  |  702 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

บ้านปู เชื่อมั่นนักลงทุนพร้อมเพิ่มทุน

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU มีความเชื่อมั่นสูงสุด ว่าการระดมทุน 3.1 หมื่นล้านบาท จากการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทฯ จะได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุน เพราะมีแผนการใช้เงินที่ชัดเจนในช่วง 5 ปีนี้ จนถึงปี 2568 โดยจะเน้นการลงทุนในธุรกิจสีเขียว ตอกย้ำกลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อสร้างระบบนิเวศด้านพลังงาน พร้อมทั้งขยายการลงทุนในประเทศออสเตรเลีย ที่จะมุ่งส่งเสริมพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยการใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วมาใช้ประโยชน์ให้เพิ่มขึ้น และหลังจากนี้ไปอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่า Portfolio ของบริษัทฯ จะมีพลังงานสะอาดมากกว่า 50% ในขณะที่ธุรกิจถ่านหินไม่ได้มีการลดการลงทุน แต่จะไม่มีการขยายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจนี้มีสัดส่วนลดลงเหลือต่ำกว่า 50%

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง การเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทฯ จำนวน 5,074,581,516 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกใหม่จำนวน 5,074,581,516 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น และมีการออกและจัดสรรใบสําคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ จำนวนรวมไม่เกิน 3,805,936,137 หน่วย ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ที่จองซื้อและได้รับจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อให้นักลงทุนสามารถทยอยลงทุนได้ โดยคาดว่าจะได้เงินจากการระดมทุน ประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท

สำหรับใบสําคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ครั้งที่ 4 (BANPU-W4) จำนวนไม่เกิน 1,268,645,379 หน่วย ในอัตราส่วน 1 หุ้นเพิ่มทุน ต่อ 1 หน่วย จะมีราคาใช้สิทธิซื้อหุ้นเท่ากับ 5 บาทต่อหุ้น ในเดือนกันยายน ปี 2565 คาดว่าจะได้เงินเกือบ 8 พันล้านบาท

ใบสําคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ครั้งที่ 5 (BANPU-W5) จำนวนไม่เกิน 1,268,645,379 หน่วย และใบสําคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ครั้งที่ 6 (BANPU-W6) จำนวนไม่เกิน 1,268,645,379 หน่วย ในอัตราส่วน 1 หุ้นเพิ่มทุน ต่อ 1 หน่วย จะมีราคาใช้สิทธิซื้อหุ้นเท่ากับ 7.50 บาทต่อหุ้น ใช้สิทธิซื้อหุ้นได้เดือนกันยายน ปี 2566 และปี 2567

ซึ่งมีความเชื่อมั่นสูงสุดว่าการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทฯ จะได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุน เพราะมีแผนการใช้เงินที่ชัดเจนในช่วง 5 ปีนี้ จนถึงปี 2568 โดยจะเน้นการลงทุนในธุรกิจสีเขียว ซึ่งมีแผนการลงทุนที่ชัดเจนทั้งในพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ก๊าซธรรมชาติ และเทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งการลงทุนในโครงการเหล่านี้ส่วนหนึ่งมากจากกระแสเงินสดของบริษัทฯ อีกส่วนมาจากการออกหุ้นกู้ ประมาณ 7,000-10,000 ล้านบาท ในเดือนสิงหาคมนี้ อีกส่วนหนึ่งจะมาจากเงินกู้จากสถาบันการเงิน และส่วนสุดท้ายมาจากเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทฯ ได้เพิ่งประกาศไปล่าสุด เพื่อให้การเดินหน้าไปสู่กลยุทธ์ Greener & Smarter เป็นไปอย่างรวดเร็วและแข็งแรกง

ซึ่งจากการเดินหน้าตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ในทุกกลุ่มธุรกิจของบ้านปูทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจของกลุ่มบ้านปูในประเทศออสเตรเลีย ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในความคืบหน้าของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของกลุ่มบ้านปู ที่ได้นำกระบวนการ Digital Transformation ซึ่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ควบคู่ไปกับการขยาย Portfolio พลังงานสะอาด

บ้านปูได้เข้าไปดำเนินธุรกิจเหมืองถ่านหินในประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่ปี 2552 ปัจจุบันมีเหมืองอยู่ 10 แห่ง ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ และได้ก่อตั้ง Digital Capability Center (DCC) เมื่อปี 2561 เพื่อสร้างความสามารถภายในองค์กรในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการบริหารต้นทุนที่เหมาะสม และมีการลงทุนเพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด (Greener Portfolio) โดยจัดตั้ง บริษัท Banpu Energy Australia เพื่อดำเนินงานใน 3 ด้าน คือ โครงการพัฒนาธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Decarbonization Projects) การพัฒนาโซลูชันด้านพลังงาน (Energy Solutions) และการบริหารจัดการพอร์ตฟอลิโอเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด (Portfolio Optimization)

ล่าสุดได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เบอริล (Beryl หรือ BSF) กำลังการผลิต 110.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มานิลดรา (Manildra หรือ MSF) กำลังการผลิต 55.9 เมกะวัตต์ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์

ซึ่งในออสเตรเลียยังมีโอกาสในการลงทุนด้านพลังงานสะอาดอีกมาก เนื่องจากทุกเหมืองที่บ้านปูเข้าไปลงทุน จะต้องมีแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสะอาด โดยที่เหมือง Airly มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 1.2 เมกะวัตต์ และขนาด 2 เมกะวัตต์ ที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองในเหมือง และยังสามารถขยายได้ถึง 87 เมกะวัตต์

ส่วนที่เหมือง Mandalong ตั้งโรงไฟฟ้าที่นำก๊าซเหลือทิ้งจากการทำเหมือง (Waste Gas to Energy) มาตั้งโรงไฟฟ้า ขนาด 8 เมกะวัตต์ ซึ่งผลิตไฟฟ้าได้ถึง 33% ของความต้องการใช้ของเหมือง คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้

นอกจากนี้ โครงการ Pumped Hydro Energy Storage ซึ่งบริษัทฯ ได้รับเงินสนับสนุนจำนวนหนึ่งจากสำนักงานพลังงานทดแทนแห่งออสเตรเลีย (ARENA) และรัฐบาลของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการพลังงานน้ำที่สามารถกักเก็บไว้ที่เหมืองใต้ดิน ในบริเวณที่ทำเหมืองเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อสร้างพลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนต่ำ จ่ายให้กับระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 600 เมกะวัตต์

บ้านปูยังสนใจศึกษาธุรกิจเหมืองแร่ที่ตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Tech Minerals) ที่สามารถนำมาต่อยอดในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากบริษัทฯ มีฐานการผลิตเหมืองถ่านหินอยู่แล้ว และออสเตรเลียก็ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสินแร่แห่งอนาคตอยู่มากเช่นเดียวกัน โดยมองไปที่แร่นิกเกิล แต่จะลงทุนในโครงการเล็ก ๆ ก่อน เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูง

สำหรับในภาพรวมบ้านปูยังตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 6,100 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตประมาณ 2,500 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มเป็น 4,500 เมกะวัตต์ จากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และที่เหลืออีกประมาณ 1,600 เมกะวัตต์ จะมาจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งประเทศเป้าหมายที่จะขยายพลังงานหมุนเวียน คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม

ซึ่งการขยายธุรกิจพลังงานสะอาดมากขึ้นในช่วง 3-5 ปีนี้ จะทำธุรกิจถ่านหินลดสัดส่วนลงไปเรื่อย ๆ เพราะจะไม่มีการขยายการลงทุนเพิ่มอีก โดยในปี 2568 จะมีสัดส่วนต่ำกว่า 50% และพลังงานสะอาดจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 50%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้