พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

Last updated: 29 ก.ย. 2564  |  530 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

เอกชนวอนรัฐแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียวอย่างจริงจัง หวังช่วยดันการใช้ไบโอพลาสติก

สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) จัดงานเสวนา “เมื่อผู้ใช้และผู้ผลิตต้องจับมือกัน เพื่อดูแลโลก” เพื่อ"อัพเดตเทรนด์ไบโอพลาสติกทั่วไทย ทั่วโลก" และ "เตรียมพร้อมรับมาตรการยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก ชนิดใช้แล้วทิ้งหลายประเภทในปี 2565 และ "เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติกของแท้ได้อย่างสบายใจ"

โดยนายวิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญกับมาตรการยกเลิกการใช้ “พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastics)” และกลับมาให้ความสนใจพลาสติกชีวภาพ (Bioplasics) มากขึ้น โดยประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายเพื่อยกเลิกพลาสติก 7 ชนิด โดยเป้าหมายแรกจะยกเลิกพลาสติก 3 ชนิด ภายในปี 2562 ได้แก่
1. พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ (Cap Seal) 2. ไมโครบีด (Microbead) หรือ เม็ดพลาสติก ที่อยู่ในเครื่องสำอางค์ช่วยขัดหน้า 3. ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารอ็อกโซ่ (Oxo) คือพลาสติกที่ใส่สารให้แตกตัว

ส่วนอีก 4 ชนิด รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าในปี 2565 จะแบนการใช้ คือ 1.ถุงพลาสติกหูหิ้ว ที่มีความหนาน้อยกว่า 3.6 ไมครอน 2.กล่องโฟมบรรจุอาหาร 3.แก้วพลาสติก และ 4.หลอดพลาสติก

ทำให้ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก คิดค้นนวัตกรรมไบโอพลาสติกขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว อาทิ หลอดที่สามารถย่อยสลายได้ในน้ำทะเล แก้วน้ำร้อน น้ำเย็น แปรงสีฟัน หน้ากากอนามัย แคปซูลกาแฟรีฟิล หรือ ท็อฟฟี่แคปซูล ถุงเพาะชำ ถุงกรองกาแฟ เป็นต้น ซึ่งในอนาคตสินค้าดังกล่าวจะได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์จะถูกลงหากมีความต้องการใช้มากขึ้น

นายวิบูลย์ กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการใช้ไบโอพลาสติกในปัจจุบันมีการเติบโตสูงขึ่นต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมามีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% ถือว่าเป็นอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับพลาสติกทั่วไปที่มีการเติบโตเพียง 2-3% ส่วนในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า ทิศทางการเติบโตของไบโอพลาสติกในประเทศไทย ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ ถ้าหากจริงจังตามมาตรการการเลิกใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวตามแผนที่วางไว้ ก็จะทำให้ความต้องการใช้ไบโอพลาสติกเติบโตขึ้น เพื่อให้ไทยเป็นผู้นำการผลิตไบโอพลาสติกในระดับเอเชีย

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพเบอร์ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯผลิตได้ 2-3 แสนตันต่อปี ขณะที่ประเทศไทยมี 2 โรงงาน มีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 1 แสนตัน และจะมีของเนเจอร์เวิร์คเข้ามาอีก 7.5 หมื่นตัน ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวัตถุดิบน้ำตาล เพราะไทยผลิตน้ำตาลเป็นเบอร์2 รองจากบราซิล จึงสามารถนำมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าได้ถึง 20 เท่า

ส่วนแนวโน้มราคาพลาสติกชีวภาพ นายวิบูลย์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีราคาแพงกว่าพลาสติกทั่วไป 3-5 เท่า เนื่องจากต้นทุนของพลาสติกชีวภาพ คือน้ำตาล มีราคาแพงกว่าต้นทุนของพลาสติกทั่วไปคือราคาน้ำมันดิบ โดยราคาพลาสติกชีวภาพในปัจจุบันเทียบเท่าราคาน้ำมันที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล การที่ราคาไบโอพลาสติกจะลงลงมาเท่ากับราคาพลาสติกทั่วไปได้นั้น ราคาน้ำมันดิบต้องขึ้นไปที่ระดับ 150 – 200 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นไปได้ยาก ประกอบกับกำลังการผลิตไบโอพลาสติกชีวภาพยังมีปริมาณไม่มาก ทำให้ต้นทุนยังอยู่ในระดับสูง แต่ถ้าเทียบในเรื่องของต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อม กพลาสติกชีวภาพถือว่ามีความคุ้มค่ามากกว่าในระยะยาว

อย่างไรก็ตามในขณะนี้เริ่มมีไบโอพลาสติกเทียมออกมาสู่ท้องตลาดมากขึ้น เนื่องจากมีราคาถูกกว่า แต่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวการทำลายเป็นแค่การแตกตัวยังไม่สามารถย่อยสลายได้จริง ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องดูผลิตภัณฑ์ให้ดี

ด้านนางสาววรินทร อยู่วิมลชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบโอ-อีโค จำกัด (Bio-Eco) กล่าวว่า เทรนด์การใช้ไบโอพลาสติก เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดส่งผลให้ยอดขายพลาสติกชีวภาพลดลงครึ่งนึง แต่พอสถานการณ์คลี่คลาย รัฐบาลในหลายประเทศเริ่มประกาศคลายล็อกดาวน์ การใช้ก็เริ่มกลับมาดีขึ้น ทำให้คาดว่ายอดการส่งออกปีนี้จะขยายตัวประมาณ 15% ส่วนในประเทศยอดขายปีนี้อาจจะยังไม่กลับมา โดยกลุ่มธุรกิจที่สนใจใช้พลาสติกชีวภาพ ได้แก่ 1.ธุรกิจโรงแรม 2.ธุรกิจคาเฟ่และร้านอาหาร 3.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั่วไทย 4.ธุรกิจสถาบันการศึกษา และ5.ธุรกิจโรงพยาบาล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้