ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

Last updated: 23 ก.ย. 2565  |  4549 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

ไทยออยล์ เตรียมสร้าง New S-Curve
มุ่งสู่ผู้นำนวัตกรรมด้านพลังงานและเคมีภัณฑ์

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไทยออยล์ตั้งเป้าจะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี โดยจะมีการลงทุนประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573 เพื่อสร้าง New S-Curve ซึ่งวางแนวทางไว้ 2 รูปแบบ คือ Step Out Business มุ่งเน้นลงทุนในธุรกิจใหม่ผ่านการร่วมทุน (JV) และการควบรวมกิจการ (M&A) ในธุรกิจที่มีศักยภาพ มีโอกาสเติบโตสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่เป็นเมกะเทรนด์ 2 ด้าน ประกอบด้วย 1.Bio Technology : ธุรกิจชีวภาพ เช่น โครงการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (Bio-Jet) โครงการชีวเคมี (Biochemicals) และโครงการผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) และ 2.New Energy and Mobility : ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ การเดินทางและการขนส่ง เช่น โครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวความบริสุทธิ์สูง (Green Hydrogen) และเทคโนโลยีการดักจับ และการใช้ประโยชน์และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS)

ทั้งนี้ การเดินหน้าเติบโตในธุรกิจใหม่ จะดำเนินงานผ่านยุทธศาสตร์ 3V’s ประกอบด้วย 1.Value Maximization : Integrated Crude to Chemicals การบูรณาการต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าจากธุรกิจโรงกลั่นสู่ธุรกิจปิโตรเคมี เช่น อะโรเมติกส์ โอเลฟิน รวมถึงผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าสูงสุดให้กับผลิตภัณฑ์ และเสริมความสามารถในการแข่งขันของไทยออยล์ ซึ่งไทยออยล์ได้ดำเนินโครงการ CFP ขยายกำลังการกลั่นน้ำมันจาก 275,000 บาร์เรล/วัน เป็น 400,000 บาร์เรล/วัน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุนน้ำมันดิบ และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ยังเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ทำให้บริษัทสามารถต่อยอดไปธุรกิจปิโตรเคมี และ High Value Product คาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ปี 256

และได้เข้าไปถือหุ้น 15% ใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนำในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการก้าวกระโดดเข้าสู่ธุรกิจโอเลฟินของไทยออยล์ สร้างโอกาสจากการขยายกำลังการผลิตเพิ่มกว่าเท่าตัว (โครงการ CAP2) และการต่อยอดไปยังธุรกิจปลายน้ำ ที่คาดว่ากำลังการผลิต CAP2 จะอยู่ที่ 8.1-8.2 ล้านตัน/ปี จากโครงการแรกมีกำลังการผลิต 4.3 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะมีการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายภายในไตรมาส 4 นี้ และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2569 สำหรับการลงทุนใน CAP ถือหุ้น 15% ได้ลงทุนไปแล้ว 913 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หากลงทุน CAP2 ก็เตรียมวงเงินร่วมลงทุนอีก 270 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมาจากการขายหุ้นเพิ่มทุน

2.Value Enhancement : Integrated Value Chain Management การบูรณาการขยายตลาดและกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค เน้นตลาดที่มีความต้องการสูงเพื่อเข้าถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ซึ่งมีการเจริญเติบโตสูง รวมถึงเพิ่มโอกาสในการลงทุนในประเทศเหล่านี้ เพื่อเข้าถึงและตอบสนองความต้องการของ End User มากขึ้น และต้องการให้อาเซียนเป็นพื้นที่ขยายฐานของไทยออยล์

3.Value Diversification : การกระจายการเติบโตสู่ธุรกิจที่มีความมั่นคงของผลกำไร เช่น ธุรกิจไฟฟ้า ผ่านการเจริญเติบโตในบริษัท GPSC รวมถึงแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ที่เป็น New S-Curve เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต

โดยวางแผนไว้ว่าภายในปี 2573 จะมีสัดส่วนกำไรจากโรงกลั่นน้ำมัน 40% ปิโตรเคมี 40% ไฟฟ้า 10% และธุรกิจใหม่ 10%

ไทยออยล์ยังได้มีการจัดตั้ง Corporate Venture Capital (CVC) บริษัท ท็อป เว็นเจอร์ส จำกัด เพื่อร่วมลงทุนใน Start-ups ที่น่าสนใจทั่วโลก โฟกัส 3 กรอบธุรกิจ ได้แก่ เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน เทคโนโลยีด้านการทดแทนการใช้น้ำมัน และเทคโนโลยีสนับสนุนอุตสาหกรรมและการผลิต ปัจจุบันได้มีการลงทุน Start-Up แล้ว 5 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท UnaBiz ผู้ออกแบบและให้บริการครบวงจรสำหรับผลิตภัณฑ์ Internet of Things 2.บริษัท Versogen ผู้พัฒนาเทคโนโลยี Anion Exchange Membrane สำหรับการผลิต Green Hydrogen 3.บริษัท Ground Positioning Radar ผู้พัฒนาเทคโนโลยีระบุตำแหน่งสำหรับรถยนต์ไร้คนขับ 4.บริษัท Mineed ผู้พัฒนาเทคโนโลยี Detachable & Dissolvable Microneedle สำหรับการใช้งานในด้านเครื่องสำอางและยา และ 5.บริษัท Everactive ผู้พัฒนาเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ที่ใช้พลังงานต่ำ ไร้สายและแบตเตอรี่

รวมถึงได้เข้าลงทุนใน Venture Capital Funds ระดับโลก จำนวน 3 กองทุน ได้แก่ Rhapsody Venture Partners (USA), Grove Ventures (Israel) และ Alibaba Entrepreneurs Fund (HK/China) ขณะที่ในปี 2565 มีเป้าหมายที่จะลงทุนใน Start-Up ผ่าน CVC เพิ่มเติมอีกประมาณ 3 บริษัท

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานปีนี้ คาดค่าการกลั่น (GRM) เฉลี่ย 7-8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ ค่าการกลั่นอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ค่าการกลั่นสูงผิดปกติ 25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทำให้ครึ่งปีแรกมีค่าการกลั่นเฉลี่ย 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมันได้กลับมาเดินเครื่องเกินกว่า 100% ของกำลังการกลั่นรวม ทำให้ผลการดำเนินงานทั้งรายได้และกำไรเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยช่วงครึ่งแรกปีนี้บริษัทมีกำไรสุทธิสูงถึง 32,510 ล้านบาท สูงกว่าทั้งปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 12,578 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้