การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

Last updated: 7 ก.พ. 2566  |  286 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

กฟผ. มั่นใจไฟฟ้าไทยมีคุณภาพ
พร้อมมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีผลิตและส่งไฟฟ้าสู่พลังงานสีเขียวที่มั่นคง
รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

กฟผ. ยืนยันคุณภาพไฟฟ้าของไทยอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าเป้าหมาย สอดคล้องกับผลสำรวจไฟฟ้าคุณภาพจาก World Bank และ อันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ BBB+ (Fitch Ratings) ตอกย้ำความเชื่อมั่นของนักลงทุน พร้อมเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน ผลักดันเมืองต้นแบบด้านพลังงานสะอาด ควบคู่การพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้ารองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานสีเขียว ส่งจ่ายไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ตระหนักถึงความสำคัญของทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ผ่านมาได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดมุ่งเน้นการสร้างความสมดุลทั้งด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ด้วยการผลิตไฟฟ้าที่ผสมผสานเชื้อเพลิงจากทรัพยากรที่หลากหลาย (Generation Mix) ภายใต้ต้นทุนที่ถูกที่สุดก่อนต้นทุนแพงขึ้นมา ราคาพอแข่งขันได้ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ด้วยการเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผ่านโครงการหลักคือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเขื่อนของ กฟผ. หรือโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด พร้อมติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) ลดความผันผวนของพลังงานหมุนเวียน ควบคู่กับการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) สามารถรองรับการนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยยังคงมีความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม อาทิ การจัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่และไฮโดรเจน เสริมความเชื่อมั่นในคุณภาพของไฟฟ้าด้วยผลสำรวจดัชนีคุณภาพบริการไฟฟ้าที่ดีของไทยโดยธนาคารโลก (World Bank) ที่เผยค่าเฉลี่ยความถี่ที่ไฟฟ้าดับ (SAIFI) และค่าเฉลี่ยระยะเวลาไฟฟ้าดับ (SAIDI) อยู่ในเกณฑ์สูงกว่าเป้าหมายมาโดยตลอด

นอกจากนี้ เพื่อให้สอดรับกับ Roadmap ของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก ที่มีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2065 กฟผ. จึงดำเนินภารกิจภายใต้กลยุทธ์ Triple S (Sources, Sink and Support) และร่วมกับพันธมิตรผลักดันพื้นที่ที่มีศักยภาพสู่การเป็นเมืองต้นแบบด้านพลังงานสะอาด เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศไทยไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน 100% หรือ RE100 ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย อาทิ “Green Kan Model”
ของจังหวัดกาญจนบุรีที่มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ

โดยมีแผนต่อยอดโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 1,100 เมกะวัตต์ รวมทั้งยังมีศักยภาพเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศโดยการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped Storage Hydro Power) ของเขื่อนวชิราลงกรณ เพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับพื้นที่จังหวัดลำปางซึ่งมีศักยภาพทั้งการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนพื้นดินและเชื้อเพลิงชีวมวลอีกด้วย (Mae Moh Model)

ปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างทดสอบกลไกการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายใต้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก (Utility Green Tariff) ที่สามารถระบุที่มาของแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนกลไกซื้อขายพลังงานไฟฟ้าสีเขียวของภาคนโยบายให้ได้มาตรฐานสากล และอำนวยความสะดวกให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวเพื่อช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนจากมาตรการภาษีคาร์บอนข้ามแดน ตอกย้ำความเชื่อมั่นของนักลงทุนด้วยอันดับความน่าเชื่อถือของ กฟผ. ในระดับสากลที่ระดับ BBB+ (Fitch Ratings) และความสามารถในการจัดหาและให้บริการพลังงานสีเขียวที่ตอบโจทย์ทิศทางอุตสาหกรรมทั่วโลก

“กฟผ. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยระบบไฟฟ้าที่มั่นคงและพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพในราคาที่แข่งขันได้ ที่สำคัญคือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายหลักในภูมิภาคอาเซียนของนักลงทุนต่างชาติ พร้อมยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทยอย่างยั่งยืน” นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน กล่าวย้ำในตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้