Last updated: 20 เม.ย 2566 | 8319 จำนวนผู้เข้าชม |
ในค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชน ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าฐาน บวกด้วยค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) บวกด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม และอัตราค่าบริการ ซึ่งค่า Ft มีการคำนวณทุก 4 เดือน ในขณะที่ค่าไฟฟ้าฐานจะเป็นอัตราคงที่
ค่าไฟฟ้าฐานคำนวณอย่างไร
ค่าไฟฟ้าฐาน คำนวนจากต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ระบบส่ง ระบบจำหน่าย และค่าผลิตพลังงานไฟฟ้า ภายใต้สมมติฐานความต้องการไฟฟ้า ราคาเชื้อเพลิง อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราเงินเฟ้อ ในช่วง 5 ปีข้างหน้าในระดับหนึ่ง
เป็นอัตราคงที่ แต่จะมีการปรับทุก 3-5 ปี โดยจะมีการพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุนในการผลิต การจัดส่ง และการจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า รวมถึง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และผลตอบแทนที่เหมาะสมในการขยายการลงทุนในอนาคตของทั้งสามการไฟฟ้า แต่ค่าไฟฟ้าฐานในปัจจุบันใช้มาตั้งแต่ปี 2558
ทำไมยังไม่มีการปรับค่าไฟฟ้าฐาน
ที่ผ่านมาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้มีการพิจารณาปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ ปี 2564-2568 หรือค่าไฟฟ้าฐานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การปรับค่าไฟฟ้ามีความเป็นธรรมต่อทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า และสะท้อนต้นทุนที่เป็นจริงมากที่สุด แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ เนื่องจากมีการเพิ่มเติมปัจจัยในการพิจารณาโครงการสร้างใหม่เพิ่มเติมหลายครั้ง
จนล่าสุดวันที่ 9 มี.ค. 2566 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จึงมีมติเห็นชอบ ให้คงอัตราค่าไฟฟ้าฐานเท่าเดิม สำหรับค่าพลังงานไฟฟ้า และค่าความต้องการพลังไฟฟ้า ในการกำหนดค่าไฟฟ้าขายปลีก และคงอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง
และเลื่อนการบังคับใช้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ที่จะจำแนกค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ (Policy Expense: PE) ออกจากค่าไฟฟ้าฐาน และค่า Ft ออกไป เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้ไฟฟ้าในวงกว้าง มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤติพลังงานและการจัดหาก๊าซธรรมชาติแหล่งอ่าวไทยที่คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปี 2567
นอกจากนี้ ยังให้ชะลอการจำแนกค่าไฟฟ้าสาธารณะออกจากค่าไฟฟ้าฐาน และให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายดำเนินการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าสาธารณะที่ครบถ้วน เพื่อจำแนกค่าใช้จ่ายได้อย่างชัดเจน เหมาะสมในทางปฏิบัติในระยะต่อไป
เนื่องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีความเห็นว่า สถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานของประเทศไทยที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อโครงสร้างการให้บริการไฟฟ้าและต้นทุนการให้บริการไฟฟ้าของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากความผันผวนของสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา และการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยคาดว่าจะเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงเดือน เม.ย. 2567
หากปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ที่จำแนกค่า PE ออกจากค่าไฟฟ้าฐาน และค่า Ft ในเดือน พ.ค. 2566 ในขณะที่สถานการณ์ราคาพลังงานยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติ จะส่งผลกระทบต่อการปรับโครงสร้างราคาไฟฟ้าของประเทศในระยะยาว ที่ไม่อาจคาดคะเนได้อย่างเพียงพอและเหมาะสม อาจทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเกิดความสับสนในการจำแนกใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้า ที่ต้องมีการเพิ่มเติมรายการค่า PE ในสถานการณ์ปัจจุบัน
ดังนั้น การเลื่อนการบังคับใช้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ออกไป ถือเป็นเรื่องดี แม้ว่าจะไม่ได้ปรับมาตั้งปี 2558 แต่หากมีการปรับค่าไฟฟ้าฐานในช่วงนี้ ราคาค่าไฟฟ้าอาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายค่าไฟฟ้าสูงขึ้น
#คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน #กองทุนพัฒนาไฟฟ้า
2 เม.ย 2568
17 เม.ย 2568
10 เม.ย 2568
16 เม.ย 2568