สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

Last updated: 23 ก.ค. 2568  |  1317 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

โรงไฟฟ้าแม่เมาะ กับเป้าหมายการปรับลดคาร์บอน ทำได้จริงหรือ?

เมื่อประเทศไทยกำลังเดินหน้ามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2065 ที่สอดรับกับกระแสของโลก หนึ่งในประเด็นที่ผู้คนส่วนหนึ่งมีคำถาม ก็คือ แล้วเราจะทำอย่างไรกับโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย ที่ในวงวิชาการรู้กันดีว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ในสัดส่วนที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิลเช่นเดียวกัน



โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง

อย่างไรก็ตาม เราควรทำความเข้าใจเบื้องต้นถึงเหตุผล ความจำเป็น และข้อดีของการมีโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศเสียก่อน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าแม่เมาะของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์ซึ่งมีแหล่งสำรองอยู่ในประเทศ ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือ การใช้เชื้อเพลิงที่มีอยู่ในประเทศมาผลิตกระแสไฟฟ้าคือการช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และที่สำคัญ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ นั้นมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำที่สุดในบรรดาโรงไฟฟ้าประเภทที่ใช้เชื้อเพลิง นอกจากจะช่วยให้ค่าเฉลี่ยต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนทั้งประเทศต่ำลงแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าในพื้นที่ภาคเหนือของไทยด้วย นอกจากนี้ ทุกการผลิตไฟฟ้าในแต่ละหน่วยของโรงไฟฟ้าแม่เมาะจะถูกแบ่งรายได้ 2 สตางค์ต่อหน่วยเข้าไปยังกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(3) เพื่อการพัฒนา หรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า (จัดอยู่ในประเภทกองทุนขนาดใหญ่) ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นำไปจัดสรรวงเงินส่งกลับไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นในด้านต่างๆ ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะและจังหวัดลำปาง

ในขณะที่ประเด็นของการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นโจทย์ใหญ่ ที่จะต้องแก้ให้ได้ เพื่อไม่ให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นตัวถ่วงของการเดินหน้าสู่เป้าหมายการปรับลดคาร์บอนของประเทศ ทาง กฟผ. จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่าง Carbon Neutrality Roadmap ซึ่งมีผู้แทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะร่วมในคณะดังกล่าว เพื่อทำหน้าที่ในการหาวิธีลดการปลดปล่อย CO2 ให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และเมื่อเร็วๆ นี้ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ได้มีการเปิดตัว โครงการดักจับ CO2 ด้วยน้ำขี้เถ้าที่มาจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 14 ที่มีงานศึกษาวิจัยและจัดทำเครื่องต้นแบบโดยอาศัยวิธีการ Mineral Carbonation




ต้นแบบจำลอง (Prototype) เครื่องดักจับ CO2 ขนาด 100 ลิตร



นายอรรถพล อิ่มหนำ ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิต โรงไฟฟ้าแม่เมาะ

นายอรรถพล อิ่มหนำ ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิต โรงไฟฟ้าแม่เมาะ อธิบายเพิ่มเติมว่าทางโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีการตั้งคณะทำงานศึกษาเทคโนโลยีใหม่มาใช้ มีคณะทำงาน CCUS (Carbon Capture Utilization and Storage) ซึ่งมีการดำเนินการโครงการดักจับ CO2 ด้วยน้ำขี้เถ้าที่มาจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 14 โดยคณะทำงานได้ศึกษาว่า น้ำขี้เถ้าอยู่ใต้เตาของกระบวนการผลิตมีศักยภาพที่จะนำมาใช้ในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ และได้ศึกษาการทำปฏิกิริยาระหว่างคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำขี้เถ้า ปรากฏว่า น้ำขี้เถ้ามีศักยภาพดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ โดยตัวของน้ำขี้เถ้าเองมีค่าความเป็นด่างสูง ค่า PH ประมาณ 11-12 ศักยภาพตรงนี้จึงน่าจะใช้ประโยชน์การเอามาดักจับ CO2 ได้ โดยอุปกรณ์ของเครื่องต้นแบบจะมีการต่อท่อเพื่อที่จะดึงแก๊สก่อนที่จะไปออกปล่องมาเมื่อผ่านกระบวนการดักจับด้วยน้ำขี้เก้า CO2 ที่มีอยู่ประมาณ 13% จะลดเหลือประมาณ 4-5%



โดยน้ำขี้เถ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 14 มีปริมาณน้ำขี้เถ้าที่ไหลผ่าน (flow rate) อยู่ที่ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ปัจจุบันใช้น้ำขี้เถ้าในการทดลองดักจับ CO2 อยู่ที่ 14 ลิตรต่อนาที หรือคิดเป็น 4.3 กรัมของ CO2 ดังนั้น หากใช้งานน้ำขี้เถ้าที่ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง จากการคำนวณจะสามารถดักจับ CO2 ได้ถึงปีละ 850 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นเป้าหมายในอนาคตที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะจะดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ ในการดักจับ CO2 นั้นมีหลายวิธี โดยส่วนใหญ่จะใช้สารเคมีและต้องสร้างโรงงานสำหรับดักจับโดยเฉพาะ ซึ่งใช้งบประมาณในการดำเนินงานที่สูงมาก แต่ในส่วนของโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ศึกษาทดลองใช้น้ำขี้เถ้าใต้เตาของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 14 ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นด่าง เมื่อผสมเข้ากับ Fuel Gas ที่มี CO2 น้ำด่างจะสามารถดักจับ CO2 ได้ และเกิดวัตถุพลอยได้จากกระบวนการผลิตเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งมีประโยชน์ในการดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตได้ด้วย จึงเป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือใช้ที่โรงไฟฟ้ามีอยู่แล้วที่ดูคุ้มค่าต่อการลงทุนมากกว่า



บ่อน้ำขี้เถ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 14



ผงแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO₃) ที่ได้จากการทดลอง

ในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านพลังงาน หรือ Energy Transition จากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนตามที่ตั้งเอาไว้ในขั้นต้น ซึ่งยังมีเวลาสำหรับพิสูจน์ความพยายามของทางโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และ กฟผ. โดยหากโครงการดักจับ CO2 ด้วยน้ำขี้เถ้าสามารถขยายผลสู่โครงการนำร่องขยายการดักจับ CO2 ได้ตามปริมาณที่ตั้งเอาไว้ จะช่วยให้การมีอยู่ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะนั้นตอบโจทย์ได้ทั้ง มิติด้านเศรษฐกิจ คือ ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำ มิติสิ่งแวดล้อม คือ การเป็นโรงไฟฟ้าที่ลดการปล่อย CO2 และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และมิติสังคม คือ ช่วยพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเป็นอีกแรงขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมสู่ความยั่งยืนต่อไป 

#กกพ #กองทุนพัฒนาไฟฟ้า #พลังงานสะอาด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้