สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

Last updated: 16 ส.ค. 2566  |  11788 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

การมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้พลังงาน

การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้พลังงาน เป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน อันได้แก่ ประชาชนทั่วไป ชุมชนท้องถิ่น และผู้ประกอบกิจการพลังงาน โดย กกพ. ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นลำดับแรก เพื่อป้องกันการใช้อำนาจผูกขาดโดยมิชอบ และคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการพลังงาน เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมในทุกด้าน ซึ่งภายใต้การดำเนินงานการกำกับดูแลของ กกพ. จะเปิดโอกาสให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในแง่มุมต่าง ๆ แล้วนำข้อคิดเห็นนั้นไปพิจารณาและใช้ปรับปรุงการดำเนินงาน เพื่อสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรมในทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง

โดยผู้ใช้พลังงานและผู้มีส่วนได้เสียสามารถมีส่วนร่วมในกิจการพลังงานได้หลายด้าน อาทิ การอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน อัตราค่าบริการไฟฟ้า มาตรฐานคุณภาพบริการ เป็นต้น โดยมีช่องทางการมีส่วนร่วมหลายช่องทางด้วยกัน ประกอบด้วย การเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่ การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน กกพ. และยังสามารถร้องขอให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายตรวจสอบกรณี การเรียกเก็บค่าบริการไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ระยะเตรียมการก่อสร้าง ระยะดำเนินการ จนกระทั่งมีการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ เพื่อกำกับและติดตามการดำเนินงานของโครงการ ให้เป็นไปตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และทำให้โรงไฟฟ้าอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน


นอกจากนี้ ในการยกระดับการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน กกพ. ได้ออกประกาศว่าด้วยเรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการไฟฟ้ารายย่อยและรายใหญ่ ให้ได้รับการคุ้มครองและความเป็นธรรมในฐานะผู้บริโภคด้านพลังงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความมั่นใจว่าจะได้รับบริการอย่างเหมาะสมตามมาตรฐานคุณภาพบริการไฟฟ้า หากเกิดความขัดข้องในการจ่ายกระแสไฟฟ้า การไฟฟ้าจะเร่งแก้ไขระบบให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติภายในระยะเวลาที่กำหนด หากการไฟฟ้าไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานคุณภาพบริการไฟฟ้าได้ ผู้ใช้พลังงานสามารถดำเนินการตรวจสอบได้ สำหรับการแจ้งดับไฟล่วงหน้าและระยะเวลาที่ดับไฟ จะต้องไม่เกินกว่าระยะเวลาตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ยกเว้นกรณีเหตุฉุกเฉิน ซึ่งต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วันทำการ รวมถึงการร้องขอให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายทำการตรวจสอบมิเตอร์ เมื่อพบว่าอัตราค่าบริการไฟฟ้าผิดปกติ หรือการคิดค่าบริการไม่ถูกต้อง เป็นต้น

อีกเรื่องหนึ่งที่ประชาชน และทุกภาคส่วน สามารถแสดงความคิดเห็นได้ คือ การกำหนดอัตราค่าเอฟที ซึ่งจะมีการพิจารณาทุก 4 เดือน เมื่อ กกพ. ได้มีการคำนวณอัตราค่าเอฟทีในแต่ละงวดแล้วเสร็จ จะต้องนำข้อมูลที่ได้มาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ภาคเอกชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ประกอบการ ซึ่งจะเปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กกพ. ตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อนำความเห็นของประชาชนไปใช้ประกอบการพิจารณาก่อนที่จะมีการประกาศค่าเอฟทีออกมาอย่างเป็นทางการต่อไป

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบทบาท หน้าที่ส่วนหนึ่งของ กกพ. ในการเปิดกว้างให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลด้านกิจการพลังงาน เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้พลังงาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชน และผู้ได้รับใบอนุญาต และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายอย่างโปร่งใส

#กองทุนพัฒนาไฟฟ้า #กกพ #พลังงานสะอาด

ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2565

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้