กรมธุรกิจพลังงาน

Last updated: 15 ธ.ค. 2566  |  5056 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กรมธุรกิจพลังงาน

การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 10 เดือน โต 1.3% ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่วนทั้งปีนี้และปีหน้าคาดโต 1-2%

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยเดือนมกราคม – ตุลาคม 2566 อยู่ที่ 152.17 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.3% ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.50 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.9% การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 68.59 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5% เนื่องจากในปี 2565 (ก.ย. – ต.ค.) มีการใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 13.17 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 60.6%เนื่องจากการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว และคาดว่าปริมาณการใช้จะกลับมาเท่าเดิมจากในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิดที่สูงสุด 22 ล้านลิตรต่อวันในช่วงอีก 2 ปีข้างหน้า ส่วนการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG )เฉลี่ยอยู่ที่ 17.93 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.8 %การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.36 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.8%

ทั้งนี้คาดว่าการใช้น้ำมันปี 2567 จะขยายตัวจากปีนี้ประมาณ 1-2% ซึ่งใกล้เคียงกับปีนี้ที่ขยายตัวที่1 -2% ซึ่งเป็นระดับการเติบโตที่ต่ำกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ 2-3%

ส่วนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในรอบ 10 เดือนอยู่ที่ 1,034,350 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 2% มูลค่าการนำเข้า 94,591 ล้านบาทต่อเดือน ลดลง 17.9% แบ่งเป็นนำเข้าน้ำมันดิบ 958,744 บาร์เรลต่อวัน น้ำมันสำเร็จรูป 75,607 บาร์เรลต่อวัน ส่วนการส่งออกน้ำมันมีปริมาณ 173,998 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 7.2% มูลค่าการส่งออกรวม 18,313 ล้านบาท ลดลง 12.3%

นอกจากนี้ กรมธุรกิจพลังงานยังได้มีการบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 (กำมะถันไม่เกิน 10 ppm) ลดฝุ่น PM 2.5 เพื่อสุขภาพของประชาชน โดยจะเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป แต่ในบางสถานีบริการอาจจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 4-5 เดือน ซึ่งทางโรงกลั่นยืนยันว่าพร้อมดำเนินการ โดยได้ใช้งบประมาณในการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันในครั้งนี้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ในการปรับคุณภาพน้ำมันเป็นยูโร5 ในส่วนของน้ำมันดีเซล จะต้องมีการปรับเปลี่ยนพื้นฐานสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล (B100) ในสัดส่วน 10% หรือ B10 มา7% หรือเป็น B7 แทน ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดที่สามารถใช้กับน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ที่ค่ายรถยนต์ให้การยอมรับและไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์

ดังนั้น กรมธุรกิจพลังงาน จึงเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบแนวทางการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช. ) ให้ปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เหลือ 2 ชนิด คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา เป็น B7 และ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 เป็นน้ำมันทางเลือก โดยจะเริ่มในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

ซึ่งการปรับลดชนิดน้ำมันดังกล่าวจะไม่ส่งผลให้ปริมาณการใช้ปาล์มน้ำมันลดลง เนื่องจากน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในปัจจุบันมีสัดส่วนผสมไบโอดีเซลอยู่ที่ 7 % อยู่แล้ว โดยมีการใช้ไบโอดีเซลอยู่ที่ 4.33 ล้านลิตร/วัน และการใช้น้ำมันปาล์มอยู่ที่ 3.77 ล้านกก./วัน และคาดว่าในปี 2567 จะมีการใช้ไบโอดีเซล อยู่ที่ 4.66 ล้านลิตร/วัน และการใช้น้ำมันปาล์มอยู่ที่ 3.88 ล้านกก./วัน ตามปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้น

“ขอให้ประชาชนผู้ใช้รถยนต์มั่นใจ น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ โดยไม่เกิดปัญหาต่อเครื่องยนต์ และช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยจากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ พบว่า รถยนต์มาตรฐานยูโร 3 และรถยนต์มาตรฐานยูโร 4 ซึ่งมีสัดส่วนการใช้งานมากที่สุดเมื่อใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 จะทำให้ฝุ่น PM 2.5 ลดลงถึง 20 – 24% อีกด้วย” นางสาวนันธิกา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้