ปตท. จำกัด (มหาชน)

Last updated: 26 ม.ค. 2567  |  7677 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปตท. จำกัด (มหาชน)

ทำไมต้องเป็น “คงกระพัน อินทรแจ้ง”

วันที่ 25 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ออก Press Release แจ้งเป็นทางการว่า คณะกรรมการบริษัท ปตท. ได้มีมติเลือก นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนที่ 11 แทน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ที่กำลังจะครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2567

โดยใน Press Release มีเนื้อหาว่า นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการ ปตท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. มีมติเห็นชอบให้ นายคงกระพัน เป็นผู้ที่เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนต่อไปต่อจาก นายอรรถพล โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนที่ 11 จะเริ่มปฏิบัติงานบริหารการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาคุณสมบัติของ นายคงกระพัน ตามกฎหมายแล้ว พยว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และมีมตินำเสนอคณะกรรมการ ปตท. ให้พิจารณา

โดยกระบวนการสรรหาฯ จะเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ นายคงกระพัน ดำเนินการเจรจาค่าตอบแทนและข้อสัญญาจ้างกับคณะอนุกรรมการพิจารณาผลตอบแทนฯ หลังจากนั้น จะได้นำผลการเจรจาดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการ ปตท. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและลงนามสัญญาจ้าง และจะมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป

ตั้งแต่มีข่าวว่าจะมีกระบวนการสรรหา CEO ปตท. ก็มีชื่อของ นายคงกระพัน เป็นตัวเต็งมาตลอด จนกระทั่งปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 3 มกราคม ที่ผ่านมา มีรายชื่อผู้สมัคร 5 คน ประกอบด้วย
1.นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTGC
2.นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่ และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท.
3.ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท.
4.นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท.
5.นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC

ซึ่งผู้เข้ารับการสรรหาจะต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่เกิน 58 ปีบริบูรณ์ในวันยื่นใบสมัคร มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ มีวิสัยทัศน์ทางด้านธุรกิจพลังงาน ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง มีความรอบรู้และประสบการณ์ในการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีการแสดงวิสัยทัศน์เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมา

หลังจากมีรายชื่อผู้สมัคร 5 คน ก็มีชื่อของ ม.ล.ปีกทอง ที่มาแรงในช่วงท้าย ๆ และเป็นหนึ่งในตัวเต็งที่จะได้รับคัดเลือกเป็น CEO ปตท. ด้วยเช่นกัน จากเดิมที่มีชื่อ นายคงกระพัน เป็นตัวเต็งคนเดียวมาตลอด และยิ่งช่วงก่อนการคัดเลือก ชื่อของ ม.ล.ปีกทอง ก็ยิ่งมาแรง จนทำให้มีกระแสว่าอาจจะแซงทางโค้งขึ้นเป็น CEO ได้

ชื่อ ม.ล.ปีกทอง มาได้อย่างไร ในช่วงที่ ปตท. กำลังถูกกดดันจากฝ่ายการเมือง ให้ร่วมรับภาระต้นทุนราคาพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ที่มีต้นทุนก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ธุรกิจก๊าซฯ ซึ่ง ม.ล.ปีกทอง ดูแลอยู่ ต้องประสานกับกระทรวงพลังงาน และทำเนียบรัฐบาลเป็นว่าเล่น มีการพยายามผลักดันไม่ให้ ปตท. ต้องร่วมรับภาระเรื่องค่า Shortfall ประมาณ 4.3 พันล้านบาท ที่ ปตท. มองว่าเป็นสัญญาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย จะนำส่วนต่างที่ได้จากการส่งก๊าซฯ ไม่ได้ตามสัญญา ไปเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าไม่ได้ มีการประลองยุทธกันพักใหญ่ระหว่างกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการเงินส่วนนี้มาลดต้นทุนค่าไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาล ทำให้กระทรวงพลังงานไม่สามารถนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาฟันธงราคาค่าไฟฟ้างวดเดือน มกราคม-เมษายน 2567 ได้ ต้องเลื่อนไปสัปดาห์ต่อสัปดาห์ เป็นเวลาหลายครั้ง ด้วยเหตุผลที่ ปตท. ยังไม่ยอมแพ้ต้องการสู้เพื่อปกป้ององค์กรไม่ให้ผลประกอบการได้รับผลกระทบ ซึ่งในระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อ ตัวเลือกสำหรับคนที่จะต้องมารับไม้เป็น CEO ต่อ ควรจะเป็นคนที่มาจากธุรกิจก๊าซฯ ชื่อของ ม.ล.ปีกทอง จึงโดดเด่นขึ้นมาตีคู่กับ นายคงกระพัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และดูเหมือนจะมีผู้สนับสนุนอยู่มากพอสมควร และยังมีชื่อพรรคเพื่อไทยให้การสนับสนุนด้วย แต่เดี๋ยวก่อนกระทรวงนี้เป็นโควตาของพรรครวมไทยสร้างชาติ จะปล่อยให้พรรคอื่นสอดแทรกเข้ามาได้อย่างไร

แต่ในความเป็นจริงชื่อของ นายคงกระพัน เป็นชื่อเดียวที่จะได้เป็น CEO มาโดยตลอด เพราะอดีตนายใหญ่ PTTGC ให้การสนับสนุน และที่สำคัญ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินนโยบายราคาพลังงานที่เป็นธรรม และเดินหน้าปรับโครงสร้างราคาพลังงานอย่างขะมักเขม้น มีโอกาสได้เห็น นายคงกระพัน ก็ไม่ได้แสดงท่าทีคัดค้าน เมื่อฝ่ายการเมืองไฟเขียว ผู้สนับสนุนหลักผลักดันเต็มที่ การเลือก CEO ปตท. คนใหม่ จึงเรียกได้ว่านอนมา และรู้ผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 25 มกราคม แต่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการออกมาจาก ปตท. ในช่วงหัวค่ำ

ด้วยบุคลิกอ่อนน้อมถ่อมตน สุภาพเรียบร้อย แต่มีประวัติและฝีมือการทำงานไม่ธรรมดา รวมทั้งเป็นคนที่ยืดหยุ่น มีลักษณะการแก้ปัญหาที่มีทางเลือกมากกว่าแค่ 2 ทางเลือก เพื่อให้การทำงานออกมาดีที่สุด ที่สำคัญเข้าใจการทำงานเป็นทีม ปล่อยให้ผู้บริหารระดับรองลงไปที่ดูแลแต่ละสายงาน ได้มีโอกาสแสดงฝีมือในงานที่ตนเองทำเต็มที่ จึงช่วยกันพา PTTGC ที่ต้องบอกว่าได้เจอกับสถานการณ์หนักหนาสาหัส ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาจนถึงปัจจุบันที่ภาพของธุรกิจปิโตรเคมีเปลี่ยนไป ให้ผ่านพ้นวิกฤตมาได้ตลอด

หลังจากรับไม้ต่อจาก นายอรรถพล CEO คนใหม่จะต้องขับเคลื่อนแผนการลงทุนในอนาคต 5 ปี (ปี 2567-2571) ของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% วงเงิน 89,203 ล้านบาท และโครงการที่อยู่ระหว่างหาโอกาสลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ระยะ 5 ปีข้างหน้า อีก 106,932 ล้านบาท เพื่อสร้างการเติบโตของ ปตท. อย่างต่อเนื่อง

อีกเรื่องที่ต้องจัดการ คือ การปรับโครงสร้างองค์กร จัดสรรตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง เพราะมีผู้บริหารเกษียณอายุหลายคน ต้องรีบจัดวางตัวเพื่อให้มาร่วมกันขับเคลื่อน ปตท. ให้เป็นไปตามแผนที่ได้วางเอาไว้ ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. ที่จะเกษียณอายุในปีนี้ที่เห็น คือ นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท., นางพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ปตท. และนายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. รวมทั้งตำแหน่ง CEO ที่ว่างลงของ PTTGC ดังนั้น จะได้เห็นภาพการโยกย้ายผู้บริหารของ ปตท. อีกหลายคน

สิ่งสุดท้ายที่สำคัญที่สุด และสิ่งที่ รมว.พลังงาน ต้องการจาก ปตท. ในเวลานี้ ก็คือความร่วมมือในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล เพราะ ปตท. ก็เหมือนกับเป็นแขน ขา ให้ รมว.พลังงาน และรัฐบาล ใช้ดูแลราคาพลังงาน โดยมองว่าการยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เพราะประชาชนยังได้รับผลกระทบกับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น ในขณะที่หน่วยงานรัฐด้านพลังงาน แม้จะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็ยังสามารถรับภาระได้มากกว่าประชาชน การประสานงานกับกระทรวงพลังงานที่ดีขึ้น เพื่อให้ ปตท. ยังสามารถเติบโตต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ช่วยดูแลด้านราคาพลังงานให้กับรัฐบาลได้อย่างไร เป็นเรื่องท้าทายที่จะเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้