สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

Last updated: 5 ก.พ. 2567  |  4770 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

กกพ. เพิ่มความเข้มข้นการกำกับดูแล รับมือ Energy Transition

Highlight
• สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพิ่มความเข้มข้นในการกำกับดูแลกิจการพลังงานในยุคเปลี่ยนผ่าน (Energy Transition)
• ตั้งเป้าสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงพลังงานสะอาดของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ
• ปรับบทบาทใน 4 ด้าน เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาด

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เพิ่มความเข้มข้นการกำกับดูแลกิจการพลังงาน รองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Energy Transition) สนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2065 ส่งเสริมพลังงานสะอาดเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการหรือกลไกเชิงบังคับ (CBAM) ของภาคอุตสาหกรรม บริหารจัดการความท้าทายความเปลี่ยนแปลงของภาคพลังงานต่อการกำกับดูแล เพื่อสนับสนุนการสร้างความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ และการพัฒนาภาคพลังงานให้เกิดความยั่งยืน ใน 4 ด้าน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กระแสการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Energy Transition) และการที่ทั่วโลกตระหนักถึงสภาวะโลกร้อนที่เป็นภัยคุกคามหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงร่วมกันตั้งเป้าหมายที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ก๊าซเรือนกระจก) ให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยประเทศไทยมีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2065 นอกจากนี้ ยังเริ่มมีมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) เพื่อให้ทั่วโลกมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น

การบริหารจัดการและการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน ต้องคำนึงถึงการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้สามารถใช้พลังงานสะอาดที่สะดวกในราคาที่เหมาะสม และสามารถแข่งขันในตลาดโลกตามกติกาสากล จะต้องเป็นการเปลี่ยนผ่านที่มีรูปแบบให้มีการผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่กระทบต่อความมั่นคงในการให้บริการ ต้องมีรูปแบบการเปลี่ยนผ่านที่ยังคงสามารถช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้สามารถดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานในสังคม และยังคงมีการให้บริการสาธารณะในระดับที่เพียงพอและเกิดความปลอดภัยในสังคมต่อไป

นั่นเป็นความท้าทายในการกำกับดูแลกิจการพลังงาน ซึ่งจะต้องสร้างความมั่นคงและความมีเสถียรภาพทางด้านพลังงานที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน สามารถบรรลุเป้าหมายทำให้ภาคพลังงานรับใช้ประชาชนผู้ใช้พลังงานด้วยการพัฒนาสังคม ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงพลังงานสะอาดของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ และสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ดังนั้น การกำกับดูแลเพื่อสนับสนุนการสร้างความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ และการพัฒนาภาคพลังงานให้เกิดความยั่งยืน จะมีทั้งหมด 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. การกำกับดูแลเพื่อรองรับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนใหม่ ๆ เช่น พลังงานจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน พลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก รวมไปถึงการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บคาร์บอนในประเทศ
2. การบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถรองรับแนวโน้มพลังงานหมุนเวียน
ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้มากที่สุดในราคาที่เหมาะสม
3. การส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพและความได้เปรียบ
เชิงภูมิศาสตร์ ภาคพลังงานไทยมีความได้เปรียบซึ่งสามารถดึงเอาศักยภาพและความได้เปรียบเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ ศักยภาพในเชิงที่ตั้งที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้และต่อเนื่องจากการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ภูมิประเทศที่มีพรมแดนเชื่อมติดกับ สปป.ลาว ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด สามารถเชื่อมต่อและรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว ได้เป็นจำนวนมาก และการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และแหล่งอื่น ๆ รวมทั้งการนำเข้าจากต่างประเทศให้เสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกัน ก็สามารถช่วยเสริมการให้บริการไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุก ๆ สถานการณ์ รองรับความผันผวนพลังงาน และยังสามารถพัฒนาให้เป็นหลุมกักเก็บคาร์บอนได้ด้วย
4. การเพิ่มการแข่งขันในภาคพลังงานโดยมุ่งให้ผลประโยชน์เกิดกับผู้ใช้ไฟฟ้า ส่งเสริมผู้ใช้พลังงานและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงและใช้พลังงานสะอาดได้ในระดับราคาที่เหมาะสม

ซึ่งการวางแผนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว จะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงและมีการพัฒนาเทคโนโลยีประกอบด้วย เช่น การประยุกต์ใช้ไฮโดรเจนในการผลิตไฟฟ้า การพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก การพัฒนาการของระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่รวดเร็ว (Disruptive Technology) เป็นต้น ซึ่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ทันเวลา จะสามารถช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ลดราคาพลังงาน และสามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่แล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำนักงาน กกพ. ยังอยู่ระหว่างพิจารณาอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม และไม่ถูกกีดกันทางการค้าจากการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามแดนด้วย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าพลังงานสีเขียว สามารถเลือกซื้อไฟฟ้าสีเขียวจากระบบได้ในราคาที่เป็นธรรมและไม่เอาเปรียบผู้ใช้ไฟฟ้ารายเดิม

นายคมกฤช กล่าวว่า มองไปอนาคตข้างหน้า การผลิตไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ยังมีความจำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อรองรับความมั่นคงและความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถพึ่งพาได้ 100% แม้ว่าภาคนโยบายจะวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าของไทยอย่างต่อเนื่องก็ตาม ดังนั้น การบริหารจัดการราคาก๊าซฯ การผลักดันให้การผลิตก๊าซฯ จากแหล่งในประเทศ และประเทศเมียนมา รวมทั้งแหล่งอื่นให้เป็นไปตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการจัดการก๊าซธรรมชาติเหลวในรูปแบบตลาดจร (Spot LNG) การปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ และในอนาคตการสนับสนุนให้มีการนำก๊าซฯ จากพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างไทย-กัมพูชา ขึ้นมาใช้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ราคาค่าไฟฟ้าของไทยไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก

นอกจาก การสนับสนุนให้ราคาพลังงานไม่สูงขึ้นมากแล้ว ในมิติด้านสังคมนั้นยังต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วย โดยประเทศไทยมีนโยบายอัตราค่าไฟฟ้าอัตราเดียวกันทุกพื้นที่เพื่อกระจายความเจริญ มีนโยบายที่ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน ไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย มีนโบายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสภาวะวิกฤตพลังงาน และมีนโยบายไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะเพื่อความปลอดภัยประชากรโดยไม่คิดค่าไฟฟ้า ซึ่งนโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่ใช้ไฟฟ้าเป็นกลไกสนับสนุนสังคมให้มีการใช้ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกันด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้