ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

Last updated: 25 เม.ย 2567  |  536 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

SCC ตั้งเป้ายอดขายปีนี้ยังโต 20%

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) เปิดเผยว่า บริษัทยังไม่มีการปรับเป้ายอดขายปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตที่ 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ว่าโครงการปิโตรเคมี ลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (LSP) ที่ประเทศเวียดนาม จะเลื่อนเดินเครื่องออกไปจากเดิมไตรมาส 1 ปีนี้ เป็นไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตที่ลดลงบ้าง แต่ภาพรวมทุกกลุ่มธุรกิจของเอสซีจีคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ เศรษฐกิจโลกยังเผชิญจากความเสี่ยงจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แต่เศรษฐกิจไทยยังดี มีโอกาสที่ธุรกิจยังเติบโตได้ดีกว่าเป้าหมาย

ส่วนธุรกิจเคมิคอลส์ ยังได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อต้นทุน ขณะที่การนำบริษัท เอสซีจีซี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) (SCGC) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็เลื่อนออกไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ตลาด

ส่วนงบลงทุนปีนี้ยังคงไว้ที่ 4 หมื่นล้านบาท โดยไตรมาส 1 ใช้ไปแล้ว 9,400 ล้านบาท

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2567 มีรายได้ 124,266 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน และมีกำไรก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 12,623 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากไตรมาสก่อน และกำไรสำหรับงวด 2,425 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,559 ล้านบาท จากไตรมาสก่อน ผลประกอบการที่ดีขึ้นมาจากนวัตกรรมกรีน การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงอานิสงส์จากการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจในประเทศมีสัญญาณฟื้นตัว ขณะเดียวกันยังลดต้นทุนได้ดี ใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยโรงงานปูนซีเมนต์ในไทยเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนได้ถึง 47%

โดยธุรกิจเคมิคอลส์ มีรายได้จากการขาย 45,376 ล้านบาท ลดลง 2% จากไตรมาสก่อน และลดลง 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณขายลดลงตามอุปสงค์ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ยังอ่อนตัว จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ดำเนินอยู่และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงการหยุดโรงงานระยองโอเลฟินส์ (ROC) เพื่อซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม จากอุปทานในตลาดที่ลดลง ส่งผลให้ราคาปิโตรเคมีปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มโอเลฟินส์ จึงทำให้มี EBITDA from Operations (กำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) 1,176 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 575 ล้านบาท จากไตรมาสก่อน ทั้งนี้ ขาดทุนสำหรับงวดเท่ากับ 1,866 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีกำไรอยู่ที่ 1,356 ล้านบาท โดยกำไรที่ลดลงเป็นผลมาจากส่วนแบ่งกำไร จากบริษัทร่วมที่ลดลง และรับรู้ค่าใช้จ่ายของโรงงานปิโตรเคมี LSP ซึ่งมาจากค่าเสื่อมราคาเป็นหลัก

ทิศทางธุรกิจเคมิคอลส์ เชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้น และน่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ทั้งนี้ SCGC เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายนวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก ‘SCGC GREEN POLYMERTM’ อย่างเต็มที่ เพื่อคว้าโอกาสรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2567 โดยไตรมาสที่ผ่านมา มียอดขาย 38,000 ตัน โดยทั้งปี 2566 มียอดขาย 218,000 ตัน สอดคล้องตามเป้าหมาย 1 ล้านตัน ภายในปี 2573 นอกจากนี้ยังผนึกกำลังกับพันธมิตรชั้นนำ อาทิ โฮมโปร ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารักษ์โลกครั้งแรกในไทย โดยนำเครื่องใช้ไฟฟ้าใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลระบบปิดอย่างครบวงจร เพื่อเปลี่ยนเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง Green Polymer สำหรับผลิตเป็นสินค้าใหม่ นอกจากนี้ ภายใต้บริษัท Sirplaste SA โปรตุเกส ยังได้เปิดตัว ‘SIRPRIME’ เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงชนิดไร้กลิ่น หรือ High Quality Odorless PCR HDPE Resin (PCR HDPE) ผลิตจากขยะพลาสติกจากครัวเรือน 100% โดยใช้เทคโนโลยีรีไซเคิลประสิทธิภาพสูงเพื่อกำจัดกลิ่นและสิ่งแปลกปลอม ได้รับการรับรองมาตรฐาน EuCertPlast และ RecyClass ของยุโรป

หลังจากนี้เศรษฐกิจโลกอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง เอสซีจีเตรียมพร้อมรับความผันผวน ปรับเปลี่ยนแผนงานธุรกิจ รวมถึงการบริหารซัพพลายเชน และพร้อมลุยต่อตามแนวทาง Inclusive Green Growth มุ่งสู่ผู้นำธุรกิจกรีน ควบคู่การสร้างสังคม Net Zero พัฒนานวัตกรรมกรีนเพื่อป้อนตลาดโลก ซึ่งมีความต้องการสูงและเติบโตได้อีกมาก ล่าสุดปูนคาร์บอนต่ำ (เจเนอเรชัน 2) ที่ช่วยลดคาร์บอนได้ 15-20% จะพร้อมจำหน่ายแล้ว นอกจากนั้นเตรียมรับเศรษฐกิจในประเทศ และภูมิภาคที่กำลังฟื้นตัว โดยขยายการลงทุนในตลาดที่มีการเติบโต ทางเศรษฐกิจสูงอย่างภูมิภาค SAMEA (เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา) ส่วน LSP จะกลับมาเดินเครื่องทดสอบทั้งโรงงาน เพื่อสร้างความพร้อมในการผลิตเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงในไตรมาส 3

สำหรับธุรกิจเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ พลังงานสะอาดครบวงจร เติบโตต่อเนื่องตามเมกะเทรนด์โลก ที่หันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ผนวกกับการสนับสนุนของภาครัฐ ทำให้ตลาดพลังงานสะอาดในประเทศขยายตัวสูง โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 511 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 13% จากสิ้นปี 2566 จากความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนจัดทำโครงการซื้อขายไฟฟ้าใหม่ ๆ โดยปีนี้ตั้งเป้ากำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 200 เมกะวัตต์ สำหรับการซื้อขายไฟฟ้ากับภาคเอกชน ส่วนนวัตกรรมแบตเตอรี่กักเก็บความร้อนจากพลังงานสะอาด ที่เป็นความร่วมมือกับ Rondo Energy สหรัฐอเมริกา เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ มีศักยภาพในการทำตลาดในอาเซียน จึงเป็นโอกาสในการนำเทคโนโลยีดังกล่าว เข้าสู่ตลาดอาเซียนในช่วงแรก และจะขยายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ที่เหมาะสมต่อไป ขณะเดียวกัน บริษัทสยามอุตสาหกรรมวัสดุทนไฟ จำกัด ได้ร่วมมือกับ Rondo Energy พัฒนาการผลิตวัสดุกักเก็บความร้อน (Thermal Media) เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นวัสดุหลักสำหรับใช้ในแบตเตอรี่กักเก็บความร้อน โดยสามารถขยายกำลังการผลิตได้ถึง 12,000 ตันต่อปี ในปลายปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับการขยายธุรกิจแบตเตอรี่กักเก็บความร้อน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้