Last updated: 13 พ.ค. 2568 | 128 จำนวนผู้เข้าชม |
สเปน-โปรตุเกส ไฟดับครั้งใหญ่ สะเทือนถึงระบบไฟฟ้าทั่วโลก
ข่าวไฟดับครั้งใหญ่ ในประเทศสเปน โปรตุเกส และฝรั่งเศสบางส่วน ถือเป็นข่าวใหญ่ที่ช็อกวงการไฟฟ้าทั่วโลก เหตุการณ์นี้ได้ทำให้เกิดข้อถกเถียงมากมาย ถึงสาเหตุของไฟดับที่เกิดขึ้น ซึ่งมีการสันนิษฐานว่า อาจมาจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากจากภาวะโลกร้อน
เหตุการณ์ไฟดับครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเที่ยงวัน ตามเวลาท้องถิ่นของสเปนและโปรตุเกส ซึ่งทำให้เกิดความโกลาหลไปทั่วทั้งสองประเทศ เพราะนอกจากจะกระทบกับภาคครัวเรือนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมหาศาล ทำให้ระบบขนส่งมวลชน โรงไฟฟ้าต่าง ๆ โรงกลั่นน้ำมัน ตลอดจนธุรกิจต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักลง ระบบสื่อสาร โทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต ไม่สามารถใช้งานได้ รวมถึงการจราจรทางอากาศที่เที่ยวบินจำนวนมากถูกยกเลิก ประชาชนต้องทนอยู่กับความสับสนและความโกลาหลแบบไม่เคยเจอมาก่อน
Red Eléctrica de España (REE) ผู้ให้บริการโครงข่ายไฟฟ้าของสเปน ระบุว่า สเปนและโปรตุเกส เกิดเหตุการณ์ปรากฏการณ์ที่แรงดันไฟฟ้าทั่วประเทศ ลดต่ำลงจนเท่ากับศูนย์ (El Cero) ส่งผลให้โครงข่ายระบบไฟฟ้าทั่วประเทศหยุดชะงักลง
Rede Energética Nacionai (REN) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงข่ายไฟฟ้าในโปรตุเกส ระบุว่า เหตุการณ์ไฟดับนี้ เกิดจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่รุนแรงในพื้นที่สเปน และส่งผลกระทบต่อการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าระหว่างสเปน โปรตุเกส และพื้นที่อื่น ๆ ของยุโรป
ปราถีกชา รามดาส นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Rystad Energy ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า สาเหตุหลักของไฟฟ้าดับไม่ได้มาจากการมีพลังงานลมและโซลาร์ในปริมาณมากโดยตรง แต่เป็นความท้าทายในการจัดการความผันผวนที่เพิ่มขึ้นของแหล่งพลังงานเหล่านี้ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการลงทุนในอุปกรณ์อินเวอร์เตอร์สำหรับโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบ
ก่อนเกิดเหตุไฟฟ้าดับ สเปนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) 59% พลังงานลม 12% นิวเคลียร์ 11% และโรงไฟฟ้า Gas Turbine ชนิดวงจรผสม (CCGT) 5% แค่เพียง 5 นาที การผลิตพลังงานโซลาร์ลดต่ำลงแบบน่าตกใจกว่า 50% ส่งผลให้กำลังการผลิตจาก 18 กิกะวัตต์ (GW) ลดลงสู่ 8 กิกะวัตต์ ทันทีโดยไม่ทราบสาเหตุ
ส่งผลให้โรงไฟฟ้าสำรองต้องเปิดใช้งาน แต่สเปนและโปรตุเกส มีโรงไฟฟ้าสำรองมั่นคง เช่น ก๊าซ นิวเคลียร์ เขื่อน ไม่เพียงพอที่จะรับมือกับพลังงานโซลาร์ที่หายจากระบบอย่างรวดเร็วได้ จึงทำให้ความถี่ในระบบหล่นจาก 50 เฮิร์ตซ์ (Hz) เหลือ 49.85 เฮิร์ตซ์ ส่งผลให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ทยอยถูกปลดออกจากระบบทันที และทำให้ไฟดับยาวนานกว่า 10 ชั่วโมง
หลังจากผ่านไป 19 ชั่วโมง บางพื้นที่เริ่มกลับมามีไฟฟ้าได้ ส่วนหนึ่งมาจากความช่วยเหลือของฝรั่งเศส ที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากที่สุดในโลก และใช้เวลากว่า 24 ชั่วโมง จึงกลับมาจ่ายไฟฟ้าได้ทั้งประเทศ
สเปน เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด โดยการใช้ไฟฟ้าในประเทศปัจจุบันมาจากพลังงานหมุนเวียน 56% และมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 81% ในปี 2573 สเปนและโปรตุเกส เป็นประเทศที่ใช้พลังงานทางเลือกมากที่สุดในยุโรป โดยมีมากถึง 60 กิกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานลม 27 กิกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าโซลาร์ 18 กิกะวัตต์
นึกย้อนกลับไปดู 3 เหตุการณ์ไฟดับครั้งใหญ่ในประเทศไทย ที่เคยเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วประเทศ (Blackout) เป็นระยะเวลานานที่สุด
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2521 เกิดเหตุการไฟฟ้าดับทั้งประเทศ เนื่องจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ที่กำลังจ่ายไฟฟ้า 1,030 เมกกะวัตต์ ทั้ง 4 เครื่อง ซึ่งเป็นกำลังการผลิตสำคัญของประเทศที่จ่ายให้กับระบบไฟฟ้าทั้งหมด 77% ของความต้องการในขณะนั้น เกิดขัดข้องในขณะจ่ายไฟฟ้า ทำให้โรงไฟฟ้าที่เหลือเกิดความขัดข้องและหลุดไปจากระบบ ไฟฟ้าเริ่มดับตั้งแต่เวลา 07:40 น. ดับในพื้นที่ภาคเหนือ 1 ชั่วโมง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 นาที ภาคกลาง 1 ชั่วโมง และเขตนครหลวง 2 ชั่วโมง จึงสามารถกลับมาเริ่มจ่ายไฟฟ้าได้ในบางพื้นที่ จนครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศเมื่อเวลา 17:00 น. รวมระยะเวลา 9 ชั่วโมง 20 นาที
หลังจากนั้น เมื่อเวลา 18.52 น. ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 เกิดเหตุไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่ จังหวัดชุมพร ลงไปถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเชื่อมโยงจากภาคกลางไปสู่ภาคใต้ จอมบึง-บางสะพาน ขนาด 500 กิโลโวลต์ ถูกฟ้าผ่าขัดข้อง ส่งผลให้ระบบป้องกันทำการปลดสายออก เกิดโหลดไม่สมดุลในภาคใต้ ทำให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางสู่ภาคใต้ได้ ไฟฟ้าดับครั้งนั้น มีตั้งแต่ไฟดับประมาณ 20 นาที ไปจนถึง 2 ชั่วโมงกว่า จนกระทั่ง กฟผ. สามารถกู้สถานการณ์กลับมาได้ทั้งหมด ก็กว่า 23.00 น.
และวันที่ 1 มิถุนายน 2561 เกิดไฟฟ้าดับในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพฯ จากการเกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่าสายส่ง น่าน-หงสา ขนาด 500 กิโลโวลต์ ที่ฝั่ง สปป.ลาว ทำให้โรงไฟฟ้าหงสา ใน สปป.ลาว กำลังการผลิต 1,300 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ในประเทศไทย รวม 1,930 เมกะวัตต์ ถูกตัดออกจากระบบแบบฉับพลัน
ในประเทศมาเลเซียก็มีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2539 ไฟฟ้าดับเป็นเวลา 16 ชั่วโมง เกิดจากความขัดข้องของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน Pakar กำลังผลิต 900 เมกะวัตต์ หลุดออกจากระบบขณะกำลังจ่ายไฟฟ้า ขณะที่ศูนย์ควบคุมการจ่ายไฟฟ้าของมาเลเซียไม่สามารถตัดการจ่ายไฟฟ้าในบางพื้นที่ได้ทัน ทำให้เกิดไฟฟ้าดับทั้งประเทศ หากศูนย์ควบคุมการจ่ายไฟฟ้าสามารถตัดจ่ายไฟฟ้าในบางพื้นที่ได้ทัน จะเกิดขึ้นในบางพื้นที่ (Patia Blackout) เท่านั้น
หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในสเปนและโปรตุเกส ทำให้ทั่วโลกตื่นตัว ประเทศไทยก็ตื่นเต้นไม่แพ้กัน และเห็นว่านี่เป็นบทเรียนครั้งสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ว่ายังมีเรื่องใดอีกที่ควรปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างเสถียรภาพให้มากขึ้น และไทยพร้อมหรือยังที่จะมีพลังงานสะอาดเข้าสู่ระบบมากขึ้น พลังงานฟอสซิลหรือโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงยังจำเป็นสำหรับประเทศไทยหรือไม่
ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 10% จากไฟฟ้าทั้งหมด แต่มีแผนที่จะเพิ่มเป็น 51% ภายในปี 2580 เนื่องจากต้องการเพิ่มพลังงานสะอาดที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อพลังงานหมุนเวียนยังไม่มีเสถียรภาพ จึงจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อคอยประคองระบบ เพราะหากเมื่อใดที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ โรงไฟฟ้าเหล่านี้จำเป็นต้องผลิตไฟฟ้าทดแทนได้ทันที
หลายคนบอกว่าพลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนถูกลงเรื่อย ๆ จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ แต่ราคาถูกอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้ระบบไฟฟ้าของประเทศมีความมั่นคงได้ จึงต้องมีการลงทุนเสริมในส่วนของโรงไฟฟ้าเชื่อเพลิงประเภทอื่น เพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับความเปลี่ยนแปลงที่คาดเดาไม่ได้
เมื่อโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ระบบเสริมก็ต้องเพิ่มขึ้นตาม จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้กำลังการผลิตสำรองไฟฟ้า (reserve margin) ของประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นด้วย แต่จะดูเฉพาะตัวเลขสำรองไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูด้วยว่าไฟฟ้าที่อยู่ในระบบนั้นมีเสถียรภาพมากแค่ไหน ระบบ LOLE ซึ่งเป็นการคำนวณสำรองไฟฟ้าแบบใหม่จึงเกิดขึ้น เพื่อชี้ให้เห็นว่าพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ในระบบไฟฟ้าพึ่งพาได้แค่ไหน และพบว่าพลังงานหมุนเวียนแต่ละประเภทไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง ดังนั้น ตัวเลขกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเหล่านี้ ไม่สามารถนำมาคำนวณได้ 100% แต่ต้องคิดตามสัดส่วนศักยภาพในการผลิต ก็จะพบว่าสำรองไฟฟ้าในระบบไม่ได้สูงเกินไป แต่เป็นสำรองที่สูงขึ้นจากการที่จะต้องมีเป็นแบ็คอัพพลังงานหมุนเวียนด้วยส่วนหนึ่ง
การเพิ่มพลังงานหมุนเวียน ทำให้จำนวนเมกะวัตต์รวมเพิ่มขึ้น ปริมาณสำรองไฟฟ้าก็มากขึ้น จึงต้องมีการบริหารจัดการระบบและมีการเตรียมความพร้อมที่สูงขึ้น ซึ่งนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นนั่นเอง ต้องมีการเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับความผันผวน การลงทุนในระบบกักเก็บพลังงาน การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และการเตรียมพร้อมระบบควบคุมและบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ แต่หากประเทศไทยสามารถวางแผนบริหารจัดการต้นทุนรวมของการจัดหาไฟฟ้าได้ดี โดยการกำหนดสัดส่วนของพลังงานแต่ละประเภทให้เหมาะสม ค่าไฟฟ้าก็จะมีความเหมาะสม ระบบก็จะเสถียรภาพ ตอบโจทย์ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและการลงทุนได้
อีกทางออกหนึ่งของการผลิตไฟฟ้า คือ การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อน ถือเป็นพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงสูง มีราคาถูก เพราะไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จึงเป็นโรงไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ได้ทุกข้อ และเป็นแหล่งพลังงานหลักที่เกือบทุกประเทศที่มุ่งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) มีการพัฒนาและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
บทเรียนครั้งนี้ เป็นความท้าทายใหม่ของการวางแผนผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย เป็นเหตุการณ์สำคัญแสดงให้เห็นว่า การเดินหน้าสู่พลังงานสะอาดควรมีการเตรียมพร้อมอย่างไร และการมุ่งสู่พลังงานสะอาดเพื่อตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม เพียงพอแล้วหรือไม่ เพราะอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ความมั่นคง ประเทศไทยควรมีบริบทอย่างไรต่อจากนี้ แต่ที่ชัดเจนคือการสร้างสมดุลให้กับพลังงานทุกประเภท ยังจำเป็นต่อระบบไฟฟ้าของประเทศไทยให้มีความมั่นคงมากที่สุด
17 เม.ย 2568
16 เม.ย 2568
30 เม.ย 2568
7 พ.ค. 2568