Last updated: 13 พ.ค. 2568 | 44 จำนวนผู้เข้าชม |
บางจากฯ ประกาศผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2568
แข็งแกร่งท่ามกลางความท้าทาย เดินหน้าสู่อนาคตด้วยพลัง Synergy และนวัตกรรม SAF
กลุ่มบริษัทบางจากเปิดศักราชปี 2568 ด้วยผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยมี EBITDA อยู่ที่ 12,666 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 77 จากไตรมาสก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิของบริษัทใหญ่เพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งเท่าตัว สะท้อนถึงการฟื้นตัวของธุรกิจภายใต้บริบทเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง จุดเด่นสำคัญในไตรมาสนี้คือการรับรู้ Synergy จากการควบรวมกิจการกับบริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) (BSRC) คิดเป็นมูลค่า EBITDA ถึง 1,812 ล้านบาท ตอกย้ำถึงศักยภาพในการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการพัฒนาเชิงกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ต่อยอดด้วยความสำเร็จของการออกหุ้นกู้ดิจิทัล การบุกเบิกพลังงานอนาคตด้วยการเปิดหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) แบบ Stand-Alone แห่งแรกของประเทศไทย การขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันและร้านกาแฟอินทนิลอย่างต่อเนื่อง โดยได้เปิดสาขาแรกในสถานีบริการน้ำมันบางจากภายใต้การบริหารของ BSRC รวมถึงการเดินหน้าการควบรวม BSRC ให้สมบูรณ์ในปีนี้
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แม้ราคาน้ำมันดิบจะอ่อนตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่บางจากฯ ยังคงสามารถรักษาอัตรากำไรที่ดีไว้ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันและกลุ่มธุรกิจการตลาด ซึ่งเป็นผลจากการบริหาร Synergy ระหว่างบริษัทฯ และบริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) (BSRC) อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในไตรมาส 1 บริษัทฯ สามารถรับรู้ EBITDA จาก Synergy ได้ถึง 1,812 ล้านบาท แสดงถึงการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่าในช่วงเวลาที่ท้าทาย มุ่งสู่การดำเนินงานแบบ Single Entity ที่ไร้รอยต่อ ในขณะเดียวกัน เรายังเริ่มเห็นพัฒนาการเชิงบวกจากบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศที่เริ่มคลี่คลาย สะท้อนผ่านราคาน้ำมันที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และอัตรากำไรที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนในทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจ”ควบคู่ไปกับผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ท่ามกลางสภาวะที่ท้าทาย บางจากฯ ยังได้บุกเบิกพลังงานแห่งอนาคต ด้วยการเปิดหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน Neat SAF 100% ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ (Stand-Alone) แห่งแรกของประเทศไทย ณ โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง กำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 1 ล้านลิตรต่อวัน เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา
พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังพัฒนาโครงสร้างโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการนำเข้าเรือ VLCC และการขยายท่าเรือรองรับเรือ Suezmax ณ โรงกลั่นน้ำมันบางจาก ศรีราชา โดยคาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ภายในไตรมาส 2 และสามารถรับรู้ประโยชน์ด้านต้นทุนในช่วงครึ่งหลังของปีในด้านธุรกิจการตลาด บางจากฯ ได้เร่งขยายสถานีบริการกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ พร้อมยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์สู่มาตรฐานสากล ทั้ง Premium 97 และ Premium Diesel ควบคู่กับการพัฒนา Retail Experience ภายใต้แนวคิด “Greenovative Destination for Intergeneration” โดยตั้งเป้าขยายร้านกาแฟอินทนิลให้ครบ 1,400 สาขาภายในสิ้นปี รวมถึงเพิ่มจุดชาร์จ EV กว่า 419 แห่ง และจุดจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่น FURiO มากกว่า 2,000 แห่ง
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาสแรกของปี 2568 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและให้บริการ 134,647 ล้านบาท มี EBITDA 12,666 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และมีการรับรู้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 466 ล้านบาท ส่งผลให้มีกำไรส่วนของบริษัทใหญ่ 2,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากไตรมาสก่อนหน้า คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.54 บาท
นางสาวภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบัญชีและการเงิน รายงานผลการดำเนินงานที่สำคัญในไตรมาสแรกของปี 2568 ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ดังนี้
กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน มี EBITDA 3,139 ล้านบาทปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 แม้ว่าค่าการกลั่นพื้นฐานเฉลี่ยจะลดลงในไตรมาสก่อน สืบเนื่องจาก Crack Spread ที่อ่อนตัวในทุกผลิตภัณฑ์ แต่ผลจากราคาน้ำมันดิบเดทเบรนท์ที่มีราคาต่ำกว่าดูไบในไตรมาส 1 ช่วยชดเชยผลกระทบของ Crack Spread ที่อ่อนตัวลงได้บางส่วน นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนหลักจากการรับรู้กำไรจากสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันล่วงหน้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอยู่ที่ 788 ล้านบาท ซึ่งสามารถชดเชย Inventory Loss ที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด
กลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA 1,841 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากค่าการตลาดสุทธิที่ฟื้นตัวขึ้นและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ลดลง แม้ว่าปริมาณจำหน่ายรวมจะอ่อนตัวเล็กน้อยที่ 3,498 ล้านลิตร จากตลาดอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว แต่ปริมาณจำหน่ายผ่านสถานีบริการสามารถขยายตัวได้เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การเติบโตของปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเครื่องบินที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณเที่ยวบินและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง สามารถชดเชยผลกระทบดังกล่าวได้บางส่วน ร่วมกับได้รับปัจจัยหนุนจากการผลักดันยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นผ่านช่องทางที่มีค่าการตลาดที่สูงขึ้น โดยมีส่วนแบ่งการตลาดผ่านสถานีบริการเพิ่มขึ้นเป็น จากร้อยละ 28.9 ณ สิ้นปี 2567 เป็นร้อยละ 29.3 ด้วยเครือข่ายสถานีบริการ 2,161 แห่งทั่วประเทศ ณ สิ้นไตรมาส 1
กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด มี EBITDA 903 ล้านบาท โดยปริมาณผลิตไฟฟ้าลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลมาจากการสิ้นสุดการรับรู้รายได้จากโครงการในญี่ปุ่น ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การอ่อนตัวหลักเกิดจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว ที่ได้รับผลกระทบตามฤดูกาล และมีการปิดซ่อมบำรุงในเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม บางส่วนสามารถชดเชยได้ด้วยส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม 444 ล้านบาท โดยมีแรงสนับสนุนหลักจากธุรกิจไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราการทำกำไรต่อหน่วยเพิ่มขึ้นจาก Spread ค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศฟิลิปปินส์ ปรับตัวดีขึ้นตามฤดูกาล ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไทย ก็มีปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลเช่นกัน ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยมีรายได้เติบโตจากปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มเติมของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา และโครงการคลังน้ำมันและท่าเทียบเรือในประเทศไทย มีผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้น
กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มี EBITDA 296 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปีก่อน โดยได้รับผลกระทบเต็มไตรมาสกำไรปรับลดลงจากการปรับสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลจาก บี7 เป็น บี5 ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายไบโอดีเซลลดลง อย่างไรก็ดี ราคาขายเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันปาล์มดิบ และเริ่มรับรู้ผลการดำเนินงานของ BBGI-BI เต็มไตรมาส ภายใต้สัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 100 ด้านธุรกิจเอทานอล แม้ราคาขายเฉลี่ยลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบ แต่ยอดขายเพิ่มขึ้นจากความต้องการที่สูงขึ้น แต่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจาก BSRC ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับสูงและยังมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ มี EBITDA 6,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยหลักจากปริมาณการจำหน่ายที่ลดลงหลังจากการขายแหล่งผลิต Yme ออกไปก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี EBITDA ไตรมาสนี้ปรับเพิ่มขึ้นจากปริมาณการจำหน่ายของ OKEA ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 39,070 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน มากกว่ากำลังผลิตตามสัญญา (Overlift) ของแหล่งผลิต Brage, Ivar Aasen และ Draugen นอกจากนี้ ราคาขายเฉลี่ยของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลวปรับตัวสูงขึ้นตามฤดูกาล เช่นเดียวกับราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า จากความต้องการใช้ในช่วงฤดูหนาว ทั้งนี้ ผลกระทบจากการรับรู้ขาดทุนด้อยค่าจาก Goodwill ที่เกิดจากการปรับประมาณการณ์ราคาน้ำมันล่วงหน้าที่ลดลง สามารถชดเชยได้ทั้งหมด โดยคิดเป็นมูลค่าราว 185 ล้านบาท
สำหรับฐานะทางการเงิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 กลุ่มบริษัทบางจาก มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 27,613 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 1,013 ล้านบาท โดยหลักเกิดจากกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมการลงทุนและจัดหาเงินใช้ไปมากกว่ากระแสเงินสดสุทธิได้มาจากกิจกรรมดำเนินงาน โดยอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อ
ส่วนของผู้ถือหุ้นในระดับที่ยังแข็งแรงที่ 1.12 เท่า และมีอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของบริษัทที่ระดับ “A+” และแนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” หรือ “Stable” จากทริสเรทติ้ง
13 พ.ค. 2568
13 พ.ค. 2568
13 พ.ค. 2568