Last updated: 21 พ.ค. 2568 | 93 จำนวนผู้เข้าชม |
ปตท. จะขายทรัพย์สินที่ไม่ทำกำไร 15,000 ล้านบาท รอโอกาสลงทุนอนาคต
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์พลังงานที่มีความผันผวน และเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะถดถอย จากปลายปัจจัย อาทิ นโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา ในช่วงปลายไตรมาส 1 ปริมาณการผลิตน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลก และความต้องการใช้พลังงานที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ปตท. จึงได้จัดตั้งวอร์รูม เตรียมแผนรับมือใน 5 ด้าน ได้แก่
1.Strategy ทบทวนกลยุทธ์เดิมพร้อมพิจารณาความท้าทายใหม่ที่จะเข้ามากระทบ ซึ่งกลยุทธ์ของกลุ่ม ปตท. ยังคงมีความเหมาะสม สามารถรับมือกับปัจจัยภายนอกและความท้าทายจากสงครามการค้าได้ แต่บางเรื่องต้องเร่งให้เร็วขึ้น
2.Financial Management รักษาวินัยการเงิน บริหารต้นทุนการเงิน เสริมสภาพคล่องกระแสเงินสด รักษาระดับเครดิต เรทติ้ง
3.Supply Chain & Customer ดูแลคู่ค้า ลูกค้า เพื่อสร้างความต่อเนื่องตลอด Supply Chain พร้อมเร่งโครงการสร้างมูลค่าเพิ่ม
4.Project Management ทบทวนความเป็นไปได้ของโครงการและการลงทุน โดยต้องพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ รวมถึงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (Asset Monetization) ของ flagship
5.Communication สื่อสารและสร้างความเข้าใจการดำเนินธุรกิจแก่ผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง
จากการปรับกลยุทธ์ธุรกิจ Non-Hydrocarbon ทำให้ไม่ต้องลงทุนในธุรกิจเสี่ยงและไม่สร้างผลกำไร (Capital Preservation) เป็นเงินประมาณ 11,000 ล้านบาท และ ปตท. กำลังพิจารณาที่จะขายทรัพย์สินเป็นทุน คาดว่าจะได้เงินประมาณ 15,000 ล้านบาท และยังมีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. (Synergy) ปตท. ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการ P1 และ D1 ซึ่งบริหารจัดการ supply & market ร่วมกัน มีเป้าหมาย 3,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2571 โครงการ MissionX ยกระดับ Operational Excellence เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าทั้งกลุ่ม ปตท. 30,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2570 มีการทำโครงการ Axis นำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สร้างมูลค่าได้อีก 11,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2572 ซึ่งจากทำโครงการทั้งหมดที่กล่าวมา คาดว่าในปีนี้ ปตท. จะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท
“การขายสินทรัพย์ทั้งหมดที่ไม่ทำกำไร ไม่ใช่ธุรกิจที่ ปตท. ถนัด ที่คาดว่าจะได้เงินมาประมาณ 15,000 ล้านบาท เป็นการถือเงินสดไว้เพื่อรอโอกาสการลงทุนในทรัพย์สินใหม่ที่จะสร้างประโยชน์ให้ ปตท. มากขึ้น”
นอกจากนี้ ปตท. ยังเร่งแสวงหา Strategic Partner เพื่อเสริมแกร่งธุรกิจ ซึ่งจะเป็นผลดีกับ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม โดยในส่วนของธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจ Life Science ได้มีการเจรจากับพันธมิตรแล้ว ซึ่งพันธมิตรที่เข้ามาจะเป็นพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ มีตลาด และมีวัตถุดิบ ที่สามารถทำให้บริษัทในกลุ่ม ปตท. เดินหน้าต่อไปได้ โดย ปตท. ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ส่วนการสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจ LNG มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ในภูมิภาค โดยใช้จุดแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในปีนี้คาดว่าจะมีการนำเข้า LNG รวม 11 ล้านตันต่อปี ครอบคลุมทั้งสัญญาระยะยาวและสัญญาตลาดจร (Spot LNG)
ปตท. ยังมีความก้าวหน้าในการศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) รวมถึงพัฒนา CCS Hub Model เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. โดยให้บริษัทในกลุ่มที่มีโรงงานที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ทำการจัดเก็บคาร์บอนไว้ และขั้นตอนต่อไปจะนำไปจัดเก็บในหลุมผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม และหารือกับภาครัฐให้มีการออกกฎ ระเบียบ และเงื่อนไขต่าง ๆ ในการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการกำกับดูแล (Regulation) ทางด้านนี้ ดังนั้น จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้กำลังศึกษาการลงทุนใน CCS ในต่างประเทศที่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ซึ่งมีการส่งเสริมเรื่องนี้อย่างมาก และมาเลเซียก็ได้ดำเนินสำเร็จแล้วในเรื่องนี้
สำหรับธุรกิจไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือกับพันธมิตรทั้งในด้านการจัดหาไฮโดรเจนและแอมโมเนียคาร์บอนต่ำ และการประยุกต์ใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้าเพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลเชิงธุรกิจ ตลอดจนสนับสนุนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ของประเทศไทยในอนาคต
20 พ.ค. 2568
21 พ.ค. 2568
21 พ.ค. 2568