Last updated: 16 ก.ค. 2568 | 85 จำนวนผู้เข้าชม |
พลังงานหนุนเดินหน้า SMR สร้างความมั่นคงไฟฟ้าไทย
นายประเสริฐ สินสุชประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนา “Thailand’s SMR Energy Forum – A Global Dialogue on SMR Development” ว่า แผนการขยายพลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปัจจุบันมีการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (Bio Mass) 4,000 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าจากพลังน้ำ 3,000 เมกะวัตต์ ซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว เพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง และตอนนี้มีทางเลือกเพิ่มเติม คือ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ที่จะบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (พีดีพี) จำนวน 600 เมกะวัตต์ ที่จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) เป็นผู้ดำเนินการ
ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 63,867 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด 50% ในอนาคตพลังงานสะอาดที่จะเข้ามา ก็จะมี SMR พลังงานไฮโดรเจน เทคโนโลยีดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์ (CCS)
SMR เป็นโรงไฟฟ้าที่กำลังได้รับความสนใจในโลกมาก มีการผลิตแล้วกว่า 400 โรง ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะมีความเชื่อมั่นว่า SMR จะมาตอบโจทย์พลังงานในอนาคต สำหรับประเทศไทยกำลังมองหาว่าจะใช้เทคโนโลยีจากประเทศไหน และกำลังดูว่าโรงไฟฟ้าประเภทนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ปัจจุบันมีเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น จีน แคนาดา สหรัฐ และยุโรป
SMR มีขนาดเล็ก และเป็นโมดูล่า สร้างในโรงงาน แล้วขนส่งมาติดตั้งในพื้นที่ก่อสร้าง เรื่องความผิดพลาดในการก่อสร้างจะลดลงมาก และขนาดเล็กพอที่จะขนส่งได้ เรื่องความปลอดภัยก็มีการใช้พื้นที่ลดลงมาก จากรัศมีการกระจายของกัมมันตรังสี ก็จะลดลงจาก 16 กิโลเมตร เหลือแค่ 1 กิโลเมตร การบริหารจัดการสารกัมมันตรังสีจะทำได้ง่ายขึ้น แท่งเชื้อเพลิงสามารถอยู่ได้หลายปี ไม่ต้องกลัวราคาผันผวน เพราะยูเรเนียมมีซัพพลายค่อนข้าง ทำให้มีเสถียรภาพมาก
สิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ต้องดูความพร้อมภาครัฐเรื่องมาตรฐาน ต้องมีกฎระเบียบที่รัดกุม และมีมาตรฐานของ IAEA ที่กำหนดระเบียบไว้ 19 ข้อ ถึงจะสร้างได้ และคนขายเชื้อเพลิงสามารถขายให้ได้ ดังนี้น ต้องมีหน่วนงานกำกับดูแลที่ชัดเจน มีกฎหมายออกมาควบคุม กระทรวงพลังงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะต้องร่วมผลักดันเรื่อง SMR ให้ได้ เพราะเป็นเรื่องอนาคตที่จะทำให้ค่าไฟถูกลง และมีความมั่นคง
ทั้งนี้ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้มีการจัดงานสัมมนา "Thailand's SMR Energy Forum - A Global Dialogue on SMR Deployment" โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (SMR) มาร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จาก สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ มส.ชาลอต นิโคลส์ สมาชิกรัฐสภาอังกฤษและประธานร่วมกลุ่มสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ สหราชอาณาจักร มร.ไซมอน สตัทฟอร์ด ผู้บริหารระดับสูง Castletown Law จากสหราชอาณาจักร มร.โทรุ อิโตะ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายจัดการโครงการ บริษัท ฮิตาชิ-จีอี เวอร์โนวา นิวเคลียร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด มร.เฉิน ฟางจุน ผู้แทนประจำประเทศไทย มาเลเซีย และเวียดนาม บริษัท ไชน่า เนชั่นแนล นิวเคลียร์ คอร์ปอเรชั่น และ มร.อเล็กซิส ออนเนอร์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ โรลส-รอยส์ เอสเอ็มอาร์
งานสัมมนาครั้งนี้ นับเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับเทคโนโลยี SMR ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่มีศักยภาพในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านพลังงานและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของประเทศไทยในปี 2608 การสัมมนาครอบคลุมประเด็นสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมความพร้อมสำหรับการนำ SMR มาใช้ในประเทศไทยในอนาคต ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีและการออกแบบ การจัดการเชื้อเพลิงและซัปพลายเชน การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย กฎระเบียบและการกำกับดูแล การลงทุน การพัฒนาบุคลากรด้าน SMR และการสร้างการยอมรับของสังคม เป็นต้น
นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เทคโนโลยี SMR เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยเสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าให้สามารถรองรับไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้มากขึ้น ลดความเสี่ยงจากไฟตก หรือไฟดับในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงได้เป็นอย่างดี ซึ่งนานาประเทศได้ขานรับกันอย่างกว้างขวางและมีการพัฒนาเทคโนโลยี SMR รุดหน้าเป็นอย่างมาก ขณะที่ประเทศไทยก็มีแผนที่จะนำ SMR เข้ามาใช้ โดยมีการศึกษาและเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ แล้ว
นายวิชัย กุลสมภพ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI กล่าวว่า การขับเคลื่อนเทคโนโลยี SMR อาจฟังดูเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่ในระดับโลกถือเป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก โดยคาดหมายว่า SMR จะเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานสะอาดที่จะมาแทนที่โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคตในประเทศไทย แม้ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาและวางแผน ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการในหลายด้าน ทั้งด้านกฎหมาย การกำกับดูแล การคัดเลือกเทคโนโลยี การเลือกพื้นที่ติดตั้ง และการก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPI ในฐานะภาคเอกชนที่มีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง เล็งเห็นว่า อนาคตของพลังงานไม่ควรพึ่งพาแหล่งพลังงานรูปแบบเดิมเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป การหาทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และยั่งยืนจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นความท้าทายระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ Carbon Neutrality และพลังงานสีเขียว การเปิดเวทีระดับนานาชาติในวันนี้ จึงเป็นก้าวแรกของความร่วมมือที่มีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในอนาคตพลังงานของไทย
ราช กรุ๊ป และ SPI ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ด้าน SMR เพื่อร่วมกันสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับ SMR เพื่อสนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงสะอาด และตอบสนองความต้องการพลังงานไฟฟ้าสีเขียวของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ SMR และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
16 ก.ค. 2568
16 ก.ค. 2568
16 ก.ค. 2568
16 ก.ค. 2568