การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

Last updated: 24 ก.ค. 2568  |  247 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

กฟผ. พร้อมขับเคลื่อนอนาคตพลังงานนิวเคลียร์ไทย หนุน SMR School
เสริมสร้างองค์ความรู้ มุ่งสร้างความมั่นคงพลังงาน และเดินหน้าลดคาร์บอน

กฟผ. ร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค “SMR School” หนุนเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีนิวเคลียร์รุ่นใหม่ ย้ำความพร้อมขับเคลื่อน SMR สู่อนาคตพลังงานสะอาดของไทย

นายศิริวัฒน์ เจ็ดสี ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “Small Modular Reactor School: Interregional Workshop on Key Aspects of SMR Development and Deployment” ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
พร้อมกล่าวเปิดงานร่วมกับนายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน น.พ.รุ่งเรือง กิจผาติ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ผู้จัดการใหญ่และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และ Mr. Liu Hua รองผู้อำนวยการใหญ่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกกว่า 11 ประเทศ เข้าร่วมงาน ณ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)

นายศิริวัฒน์ เจ็ดสี กฟผ. เผยว่า ปัจจุบันระบบพลังงานไฟฟ้าทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย กำลังเผชิญความท้าทาย ทั้งการจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ในต้นทุนราคาที่เหมาะสม และสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ขณะที่พลังงานหมุนเวียนยังมีข้อจำกัด โรงไฟฟ้า Small Modular Reactor (SMR) จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่มีความน่าสนใจ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็กที่ทันสมัย ทำให้มีความปลอดภัยสูงขึ้น และสามารถนำไปติดตั้งได้อย่างยืดหยุ่นในหลายพื้นที่ ที่สำคัญยังเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว ปัจจุบัน กฟผ. ในฐานะหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ได้เตรียมความพร้อมในการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกมิติมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น (Pre-feasibility Study) ค้นหาพื้นที่ศักยภาพ ศึกษาเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสม และการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ตลอดจนประสานความร่วมมือกับพันธมิตรระหว่างประเทศ และผู้พัฒนาเทคโนโลยี SMR ทั้งในด้านเทคนิค การลงทุน และกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบภายใต้หลักเกณฑ์ความปลอดภัย และการยอมรับของประชาชน ซึ่งต้องมีการสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อสร้างความไว้วางใจจากสาธารณชน โดย กฟผ. พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการอย่างโปร่งใส ผ่านความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อให้ทุกขั้นตอนเป็นไปตามมาตรฐานสากล

การประชุม SMR School ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21–25 กรกฎาคม 2568 ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ร่วมกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และได้รับการสนับสนุนจาก กฟผ. ในฐานะเจ้าภาพร่วม เพื่อเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระหว่างประเทศสมาชิกของ IAEA โดยมีหัวข้อครอบคลุมทั้งด้านวิศวกรรม ออกแบบโรงไฟฟ้า ระบบความปลอดภัย การขอรับใบอนุญาต การมีส่วนร่วมของสาธารณชน และแนวทางการพัฒนาโครงการ SMR ตั้งแต่ต้นทางจนถึงการใช้งานจริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการกำหนดแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี SMR ในประเทศไทยต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้