บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

Last updated: 25 ก.ค. 2568  |  146 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

GC เร่งเดินหน้า SAF 6 ล้านลิตร

นายทศพร บุณยพิพัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เปิดเผยว่า โครงการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) เฟสแรกปัจจุบันเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตอยู่ที่ 6 ล้านลิตรต่อปี โดยใช้การแปรรูปน้ำมันพืชใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) ร่วมกับน้ำมันดิบสู่การผลิต SAF เชิงพาณิชย์ได้โดยไม่ต้องสร้างโรงงานขึ้นมาใหม่ ทำให้สามารถประหยัดการลงทุนเมื่อเทียบกับการสร้างโรงงานใหม่ โดย SAF เฟสแรกของบริษัทใช้งบลงทุนรวมประมาณ 160 ล้านบาท

ทั้งนี้การผลิตน้ำมัน SAF ของบริษัท เป็นไปตามสัญญาซื้อขายที่ทำร่วมกับบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่ปัอนให้กับลูกค้าสายการบินต่างๆ โดยปัจจุบันการใช้ SAF ยังเป็นภาคสมัครใจของสายการบิน จะใช้หรือไม่ก็ได้ ซึ่งบริษัทไม่ได้รอเพียงคำสั่งซื้อ SAF อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถปรับเปลี่ยนมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ(Bio Polymers) และเคมีภัณฑ์ชีวภาพ(Bio Chemicals) ปริมาณ 20,000 ตันต่อปี เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า

โดยปัจจุบันราคาขาย SAF ในตลาดสิงคโปร์พบว่ามีราคาสูงกว่าน้ำมันอากาศยาน (Jet A1) ประมาณ 2 เท่า ส่งผลให้ margin ของ SAF ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ขณะเดียวกันบริษัทยังรอความชัดเจนจากทางภาครัฐในการกำหนดนโยบายบังคับใช้ SAF หรือหากรัฐมีนโยบายสนับสนุนการใช้ SAF ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าบริษัทก็พร้อมที่จะขยายโรงงาน SAF เฟส 2 ด้วยกำลังการผลิต 24 ล้านลิตรต่อปี หรือผลิตพลาสติกชีสภาพและเคมีภัณฑ์ชีวภาพ 80,000 ตันต่อปี

สำหรับวัตถุดิบในการผลิตน้ำมัน SAF จะใช้จากน้ำมันพืชใช้แล้ว หรือ UCO ที่ปัจจุบันซัพพลายในประเทศยังเพียงพอ แต่หากในอนาคตบริษัทมีความต้องการใช้ UCO เพิ่มขึ้น ก็มีแผนที่จะนำเข้าจากประเทศสิงคโปร์เพิ่มเติม ซึ่งมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับแล้ว

ขณะที่ในส่วนของลูกค้านั้น บริษัทมีสัญญากับทาง OR ที่เปิดตลาดหาลูกค้า และในอนาคตหากเป็นภาคบังคับใช้ SAF สายการบินต่างๆก็จะเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้ตลาด SAF ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก

อย่างไรก็ตามบริษัทนับเป็นผู้บุกเบิกการผลิตเชื้อเพลิง SAF และประสบความสำเร็จในการผลิต SAF เชิงพาณิชย์เป็นรายแรกของประเทศไทย ด้วยวิธีการผลิตร่วมแบบ Co-processing เปลี่ยนโครงสร้างน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วเป็นพลังงานสะอาดและผลิตภัณฑ์ชีวภาพอย่างยั่งยืน พร้อมได้รับการรับรองมาตรฐาน ISCC CORSIA (International Sustainability and Carbon Certification – Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation) ซึ่งเป็นมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากลที่ยอมรับในอุตสาหกรรมการบิน และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไป และได้รับรองมาตรฐาน ISCC Plus (International Sustainability and Carbon Certification Plus) ที่มุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบชีวภาพและวัสดุหมุนเวียนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน

นอกจากนี้ PTTGC ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงอีกกว่า 10 ชนิด สะท้อนการสร้าง "ความแตกต่างอย่างยั่งยืน" ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)

สำหรับโดยมีกรอบกฎหมายที่สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน ประกอบด้วย
1. ICAO CORSIA (Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation): เป็นโครงการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ที่มุ่งลดการปล่อยคาร์บอนจากอุตสาหกรรมการบิน โดยมีข้อกำหนดให้สายการบินใช้ SAF เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
2. ASTM D7566: มาตรฐานสากลที่กำหนดคุณสมบัติของ SAF ซึ่งสามารถผสมกับเชื้อเพลิงอากาศยานแบบดั้งเดิมได้ถึง 50%
3. EU Renewable Energy Directive (RED II): กำหนดให้ SAF เป็นหนึ่งในพลังงานทดแทนที่สามารถนำมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการบินของสหภาพยุโรป
และ 4. FAA and EASA Regulations: องค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) และองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) มีแนวทางในการส่งเสริมการใช้ SAF และกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยของเชื้อเพลิงดังกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้