Last updated: 26 เม.ย 2563 | 2962 จำนวนผู้เข้าชม |
เร็วๆนี้ โลกแห่งพลังงานไฟฟ้าอาจถูกพลิกโฉมแบบที่ไม่เคยมีใครจินตนาการมาก่อน การเปลี่ยนแปลงกำลังก้าวเข้ามาทีละน้อย ซึ่งต้องขอบคุณเทคโนโลยี Blockchain ที่ช่วยให้การซื้อขายสามารถทำได้ผ่านระบบ Peer - to - Peer และกำจัดพ่อค้าคนกลางหรือที่เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ตักตวงเอาผลกำไรไปหลายเปอร์เซ็นต์จากการซื้อขายในแต่ละครั้ง
Clean Enregy Blockchain Network และ Power Ledger ผู้เป็นตลาดขายพลังงานทดแทนชั้นนำของประเทศออสเตรเลียได้นำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้เพื่อช่วยให้อาคาร 4 หลังในมหาวิทยาลัย Northwestern University สามารถแลกเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ที่เหลือใช้ระหว่างกันได้ และในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้มีการใช้ระบบเดียวกันเพื่อติดตามข้อมูลการผลิตและบริโภคพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้ในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในลานจอดรถ 2 แห่ง
ในปัจจุบัน ทั้งมิเตอร์และตัวกระแสไฟฟ้านั้นเป็นของหน่วยงานด้านสาธารณูปโภค รวมไปถึงการถือกรรมสิทธิ์ในการซื้อขาย แต่เทคโนโลยี Blockchain ได้นำข้อมูลเหล่านี้เข้าสู่ระบบดิจิตอล ทำให้การจำหน่ายกระแสไฟฟ้าสามารถทำได้ผ่านระบบ Peer-to-Peer ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายและตรวจสอบปริมาณไฟฟ้า นั่นหมายความว่าถ้าเพื่อนบ้านของคุณมีพลังงานแสงอาทิตย์เหลือใช้ ก็สามารถขายให้คนที่อยู่ในละแวกเดียวกันได้โดยตรง
ลองนึกถึง Uber มีคนต้องการหารถไปส่ง และอีกคนมีรถแต่ไม่ได้ขับออกไปไหน เทคโนโลยีจึงเข้ามาช่วยให้ 2 คนนี้ได้เชื่อมต่อกัน ตกลงกันได้เมื่อไหร่ผู้โดยสารก็จ่ายเงินและคนขับก็รับเงิน ส่วนบริษัทนั้นเป็นแค่คนกลาง ไม่ได้ถือครองรถ
ไมเคิล พาวเวอร์ส (Michael Powers) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท SunPower By Stellar Solar ในรัฐซานดิเอโก้ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้กล่าวว่าการนำเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมพลังงานนั้นเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง: “ระบบ Peer-to-Peer ทำให้การจ่ายพลังงานแสงอาทิตย์นั้นครอบคลุมมากกว่าเดิม มีคุณค่าและราคาตรงกับความเป็นจริงในตลาดซื้อขาย”
ซึ่งขั้นตอนปกติที่ทำกันในปัจจุบันก็คือ หากผู้ใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีกระแสไฟฟ้าเหลือใช้ ก็จะขายให้แก่โรงไฟฟ้าในราคาที่ถูกผูกขาดเอาไว้แล้ว หรือที่เรียกกันว่า “ราคาเน็ตมิเตอร์ (Net Metered Rate) ซึ่งถูกกดราคาโดยผู้มีอำนาจควบคุม เจ้าของบ้านหรือบริษัทที่ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จึงขาดแรงจูงใจที่จะผลิตไฟฟ้าเพิ่ม เพราะว่าราคาแต่ละกิโลวัตต์ที่ได้นั้นไม่ใช่ราคาไฟฟ้าที่ซื้อขายกันในท้องตลาดเสียด้วยซ้ำ แต่หากว่ามีเทคโนโลยีนี้เข้ามา พลังงานแสงอาทิตย์จะถูกขายผ่านการประมูลโดยที่ผู้สนใจบนอินเตอร์เน็ต ทำให้ผู้ผลิตกระแสฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขายได้ที่ราคาตลาด
คุณพาวเวอร์สกล่าวว่า วิธีตรวจสอบการใช้ฟ้าและออกบิลค่าไฟในปัจจุบันนั้นเป็นภาระใหญ่ของฝ่ายบริหารประเทศหรือแม้แต่บริษัทผลิตไฟฟ้าเอง แต่เทคโนโลยี Blockchain จะสามารถบันทึก ตรวจสอบ และจัดการธุรกรรมทางการซื้อขายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลว่าใครผลิตไฟฟ้า ผลิตด้วยวิธีไหน ขายให้ใคร และขายเท่าไหร่
ผู้ขับเคลื่อนหลัก
การซื้อขายพลังงานรูปแบบนี้เร็วและง่าย ไม่มีศูนย์หรือคนกลางที่จะมาขโมยข้อมูล และไม่ว่าใครก็สามารถเข้าร่วมซื้อขายได้
“ในตอนนี้ผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้ค่าตอบแทนในราคาเน็ตมิเตอร์ (Net Metering Rate) ที่ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว” คุณพาวเวอร์สกล่าว
“นั่นหมายความว่าราคาถูกกดลงมาโดยผู้ที่มีอำนาจควบคุมและเหล่าผู้ผลิตรายใหญ่ในอุตสาหกรรมสาธารณูปโภค แล้วอย่างนี้เราจะก้าวไปสู่พลังงานสะอาด 100% ได้อย่างไร? ด้วยระบบตลาดเสรี (Free Market System) ผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จะได้พบกับผู้ใช้รายใหม่ๆที่ไม่มีแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่บ้านและยอมจ่ายมากกว่าเดิมเล็กน้อยเพื่อใช้พลังงานสะอาดที่แท้จริง หาก Blockchain เข้ามาช่วยให้มันเกิดขึ้นได้ แล้วทำไมเราไม่นำมาใช้ล่ะ?”
สำหรับการทดลองนำร่องพลังงานแบบ Blockchain ไฟฟ้าจะถูกซื้อขายผ่านระบบ Peer- to – Peer รวมไปถึงการใช้ “เครดิตพลังงานทดแทน (Renewable Energy Credits)” เครดิตเหล่านี้สามารถขายให้แก่บริษัทหรือเมืองที่กำลังสร้างผลงานด้านพลังงานสะอาดโดยไม่ต้องผลิตด้วยตัวเอง
บริษัทใหญ่มากมายได้เข้าร่วมเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก เช่น General Motors, Hewlett Packard, Johnson & Johnson,Tata Motors และ Walmart ที่ได้ตั้งเป้าว่าจะปฏิบัติงานโดยใช้พลังงานสีเขียวทั้งหมด ซึ่งเป็นความต้องการที่ขับเคลื่อนระบบการซื้อขายพลังงานผ่าน Blockchain ให้ก้าวไปข้างหน้า เพราะบริษัทเหล่านี้นั้นมีอาคารมากมายที่เชื่อมต่อกันด้วยโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กในพื้นที่ (Microgrid) จึงสามารถแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างอาคารได้อย่างง่ายดาย
ไม่ใช่เพียงผู้ใช้พลังงานที่ได้รับประโยชน์จาก Blockchain เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ใช้โทรศัพท์มือถืออีกด้วย ล่าสุด PayPal ได้จับมือจับTransfer To บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการด้านดิจิตอลสำหรับมือถือ ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเติมเงิน (Air Time) เข้ามือถือได้ทันทีไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนในอเมริกา และสามารถโอนเครดิตค่าโทรแบบ Prepaid ไปให้ผู้อื่นได้ใน 30 ประเทศทั่วโลกได้”
โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะมีโทรศัพท์ 4.5 พันล้านเครื่องทั่วโลกที่จะใช้บริการตัวนี้ เจาะกลุ่มผู้ใช้ธนาคารที่ไม่มีบริการรูปแบบนี้
“เป็นวิธีที่ปลอดภัยกว่ามาก” หากเปรียบเทียบกับวิธีที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันที่มีคนกลางเข้ามาแทรกและแย่งส่วนแบ่งจากการขายทั้งหมดของเรา คุณดอน ทอปสก็อตต์ (Don Topscott) ผู้บริหารชาวแคนาดาได้กล่าวในการบรรยายรายการ TedTalks ว่า “ก็เหมือนเพื่อนๆมารวมตัวกันและแบ่งปันความร่ำรวย โดยมี Blockchain เป็นคนจัดการเรื่องการชำระเงินและสัญญาต่างๆ... ยักษ์จีนี่แห่งเทคโนโลยีได้ออกมาจากตะเกียงแล้ว”
อย่างที่คุณพาวเวอร์ส แห่งบริษัท SunPower by Stellar Solar ได้บอกเอาไว้ ผู้ให้บริการภาพยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่าง NetFlix ไม่ได้เป็นเจ้าของโรงหนังแม้สักแห่งเดียว หรือว่าหนึ่งในผู้ให้บริการที่พักรายใหญ่อย่าง Airbnb ก็ไม่เห็นจะมีอสังหาริมทรัพย์เป็นของตัวเอง ไม่ว่าธุรกิจไหนก็ไม่ถูก “กีดกั้น” จากโลกดิจิตอล ซึ่งรวมไปถึงการซื้อขายไฟฟ้าและการเงินด้วย เพราะ Blockchain ได้ผสานอำนาจทั้งหมดให้แก่ “Prosumer” (ผู้บริโภคที่เป็นผู้ผลิตด้วย) แต่ละคน เป็นการค้นพบอำนาจใหม่ที่ตอบโจทย์คนทำธุรกิจที่อยากก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและทรงพลังกว่าเดิม
ที่มา : บทความ No Industry Immune To Blockchain Technology, Not Even The Electricity World จาก www.forbe.com
10 ส.ค. 2566
4 พ.ค. 2564
21 พ.ค. 2564
11 ต.ค. 2564