Last updated: 26 เม.ย 2563 | 1513 จำนวนผู้เข้าชม |
1 .แต่งตั้ง รมว. พลังงาน คนใหม่
อีกเก้าอี้ที่มีการจับตามองในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คือตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งผู้ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ก็คือ ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์
นอกเหนือจากการศึกษาด้านวิศวกรรมเคมี (เกียรตินิยม) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย และปริญญาเอกสาขาเดียวกันจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาซูเซ็ทส์ ดร.ศิริ ยังมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีมายาวนาน เช่น การออกแบบโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน การจัดตั้งและบริหารบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ
ก่อนหน้านี้ ดร.ศิริ เคยเป็นผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ ด้านการลงทุน...เป็นผู้ว่าการของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด...เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง เช่น การรถไฟ สวทช. องค์การเภสัช และการท่าเรือแห่งประเทศไทย จนกระทั่งขึ้นเป็นผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนที่ 12 ของประเทศไทย เพื่อมาขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานตามยุทธศาสตร์ Thailand 4.0
2. เร่งประมูลแหล่ง เอราวัณ-บงกช
หนึ่งในภารกิจเร่งด่วนด้านพลังงานของประเทศ คือ การประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565 และ 2566 ทั้งแหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างมาก และเรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นร้อนให้ติดตามต่อไปในปี 2561 โดยมีการประเมินกันว่า หลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับการประมูลน่าจะมีความชัดเจนในช่วงเดือนมกราคม 2561 หลังจากนั้นจะสามารถประกาศร่างข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (TOR) ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ส่วนใครจะเป็นผู้ชนะการประมูลนั้นต้องมาลุ้นกัน
3. ขีดเส้นตายโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้
ปัญหาการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ที่กลายเป็นเผือกร้อนของรัฐบาลชุดนี้ กำลังจะได้ข้อยุติ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ได้สั่งการไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ทบทวนแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลักในภาคใต้อีกครั้ง โดยจะต้องให้มีความชัดเจนภายใน 3 เดือนนี้ และจัดทำแผนพีดีพีฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 มหากาพย์การสร้างโรงไฟฟ้าหลักในภาคใต้จะลงเอยด้วยการใช้เชื้อเพลิงชนิดใด การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอาจจะต้องหันไปใช้ก๊าซธรรมชาติแทนหรือไม่ และโรงไฟฟ้าแห่งใหม่จะเกิดขึ้นที่ไหน คงจะได้รับทราบกันในอีกไม่นานนี้
4. น้ำมันปาล์มดิบล้นตลาด - “ไบโอดีเซล”ป่วน
ปี 2560 ภาคพลังงานไทยประสบปัญหาสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่คงเหลืออยู่ในระบบสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 5 แสนตัน ทำให้ต้องมีการระดมความช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อรับซื้อ CPO โดยกระทรวงพลังงานมีแนวทางที่จะบริหารสต็อค CPO ด้วยการนำมาผสมดีเซลในสัดส่วน 7% เป็น บี7 เพื่อจำหน่ายตลอดปี 2561
ขณะที่การผลิต “ไบโอดีเซล B100” ก็มาถึงจุดที่ซัพพลายมีมากเกินดีมานด์ของตลาด จนทำให้มีการดั๊มพ์ราคาหน้าโรงงานลงเหลือไม่ถึง 20 บาท/ลิตร ซึ่งถือเป็นราคาที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับราคาประกาศจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่ 23.64 บาท/ลิตร ปัจจุบัน ไทยมีโรงงานผลิต B100 ทั้งสิ้น 13 โรง รวมกำลังผลิต 6.6 ล้านลิตร/วัน ในขณะที่ความต้องการใช้ B100 เพื่อนำไปผสมในเนื้อน้ำมันดีเซลมีเพียง 3 ล้านลิตร/วันเท่านั้น และในปี 2561 คาดว่าจะมีโรงงานผลิตไบโอดีเซลใหม่เพิ่มอีกอย่างน้อย 3 โรง รวมกำลังผลิตประมาณ 300,000 ลิตร/วัน....ภาครัฐจะมีนโยบายเพิ่มความต้องการใช้ B100 อย่างไรในปีหน้า? คือคำถามจากธุรกิจไบโอดีเซล
5. รื้อนโยบายโซลาร์รูฟท็อปเสรี
อีกโครงการด้านพลังงานทดแทนที่ได้รับความสนใจจากสังคมและกำลังรอคอยความชัดเจนจากภาครัฐ ก็คือ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซล่าร์รูฟท็อป) แบบเสรี ที่ภาครัฐสนับสนุนให้ประชาชนภาคครัวเรือนและภาคอาคารธุรกิจสามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง และยังสามารถขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้เข้าสู่ระบบ ล่าสุด โครงการนี้ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดและความเหมาะสมเกี่ยวกับปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าที่ต้องทบทวนในหลายๆ มิติ โดยคาดว่าจะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากโซลาร์รูฟท็อปได้ในปี 2561 หากทุกฝ่ายสามารถตกผลึกในรายละเอียดกันได้
6. ไฟเขียว กฟผ. นำเข้า LNG - เปิดเสรีธุรกิจ LPG
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กลายเป็นผู้นำเข้า LNG รายที่ 2 ของประเทศ หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบในหลักการและแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติทั้งระบบ โดยให้ กฟผ. เป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) รายใหม่ เพื่อนำร่องทดสอบระบบต่างๆ ในระยะที่ 1 ถือเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดแข่งขันเสรีเต็มรูปแบบในอนาคต จากเดิมที่มีบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท. เป็นผู้จัดหาแอลเอ็นจีเพียงรายเดียว
นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ยังเห็นชอบแนวทางการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแอลพีจีเต็มรูปแบบ โดยให้ยกเลิกการกำหนดราคาโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมันและโรงอะโรเมติกส์ ยกเลิกการประกาศราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ เพื่อให้ตลาดก๊าซแอลพีจี มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์
7. เปิดรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP Hybrid Firm
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศผลการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560 ว่า มีโครงการที่ผ่านการประเมินข้อเสนอด้านราคาและเป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 17 โครงการ โดยมีปริมาณเสนอขายรวมทั้งสิ้น 300 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตติดตั้งรวม 434.60 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการรับซื้อไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทั้ง 17 โครงการ ต้องเร่งดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือรายงานการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Code of Practice : CoP) ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ทันกำหนดวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ภายในวันที่ 13 ธันวาคม 2562 และสามารถดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564
8. ปิดโครงการโซลาร์ฟาร์มราชการ เฟส 2
โครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร เฟสสอง สรุปผลแล้ว โดยมีผู้ที่ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทั้งสิ้นจำนวน 35 ราย จากที่ผ่านการจับฉลาก 38 ราย คิดเป็นปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 154.52 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็น หน่วยงานราชการ 11 ราย ปริมาณเสนอขาย 52.52 เมกะวัตต์ และสหกรณ์ภาคการเกษตร 24 ราย ปริมาณเสนอขาย 102 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนหมุนเวียนกว่า 10,700 ล้านบาท โดยเจ้าของโครงการหรือผู้สนับสนุนโครงการ จะเข้าสู่กระบวนการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (กฟภ. หรือ กฟน.) ภายใน 120 วันนับจากวันที่ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณา หรือภายในวันที่ 2 มีนาคม 2561 ภายใต้อายุสัญญา 25 ปี และได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ 4.12 บาทต่อหน่วย โดยต้องพร้อมจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตามสัญญา (SCOD) ให้ทันภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2561
9. แผนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) คืบหน้า
แผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทยคืบหน้าไปอีกขั้น เมื่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบให้สถานีอัดประจุไฟฟ้าใช้อัตราค่าไฟฟ้าตามประกาศเรื่องอัตราค่าบริการสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในระยะแรก เพื่อรองรับการใช้งานรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า (โครงการนำร่อง) ของการไฟฟ้าส่วนจำหน่าย (เทียบเท่าอัตราค่าไฟของกิจการขนาดกลาง) เป็นการชั่วคราวไปก่อนตาม"อัตราการใช้ไฟฟ้าตามช่วงเวลา (TOU)" แบ่งเป็นกลางวันคิดในราคา 4.10 บาทต่อหน่วย และกลางคืน และเสาร์ อาทิตย์หรือช่วงออฟพีค คิดอัตรา 2.60 บาทต่อหน่วย
10. จับตาซื้อไฟฟ้าแพงจากกัมพูชา
กลายเป็นประเด็นชวนสะกิดใจ เมื่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีคำสั่งให้ กฟผ. ลงนามในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลประเทศกัมพูชา ให้ซื้อไฟฟ้าจากแหล่งผลิตสตึงมนัม ประเทศกัมพูชา ในราคา 10.75 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาค่าเฉลี่ยไฟฟ้าที่ผลิตใช้ในประเทศไทย โดยราคาดังกล่าวนั้นเป็นราคาที่จะได้รับไฟฟ้าและน้ำจากเขื่อนสตึงมนัม จำนวน 300 ล้านลบ.ม. ซึ่ง กพช. เคยวางนโยบายไว้ว่าจะนำมาใช้ในพื้นที่อุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ข้อตกลงนี้จะเดินหน้าต่ออย่างไร และใครจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ ต้องติดตามกันต่อไป
…………………………….
สำหรับสถานการณ์ด้านพลังงานในปี 2561 นั้น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดการณ์ว่าการใช้พลังงานของไทยจะเพิ่มขึ้น 2.1% สอดรับกับ จีดีพี ที่คาดว่าจะขยายตัวระหว่าง 3.6-4.6% ขณะที่การใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 4.1% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนการใช้พลังงานทดแทนจะเพิ่มขึ้น 7.1% ตามนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของภาครัฐ ด้านแนวโน้มราคาน้ำมันในปี 2561 คาดว่า จะปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยราคาดีเซลจะอยู่ที่ประมาณ 25-27 บาทต่อลิตร จากราคาเฉลี่ยปี 2560 อยู่ที่ 23-26 บาทต่อลิตร
ขณะเดียวกัน นโยบาย Energy 4.0 ยังคงเป็นธงหลักของการพัฒนาภาคพลังงานในปีหน้า โดยกระทรวงพลังงานได้เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวผ่านโครงการสำคัญๆ เช่น การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (EV) การเตรียมสถานีประจุไฟฟ้า (Charging Station) การผลักดันเมืองอัจฉริยะ (Smart city) ซึ่งได้มีการเลือกเฟ้น 7 สุดยอดเมืองประหยัดพลังงาน การพัฒนาระบบจัดเก็บพลังงานหรือ Energy Storage (ESS) ผ่านงานวิจัยและส่งเสริมการลงทุนตั้งโรงงานผลิต รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ เช่น SPP Hybrid Firm เป็นต้น และหากทุกอย่างดำเนินไปตามแผน....ปี 2561 เราจะได้เห็นสถานีอัดประจุไฟฟ้า 150 สถานี … ภายในปี 2565 รถตุ๊กตุ๊กกว่า 20,000 คัน ทั่วประเทศจะเปลี่ยนเป็นใช้รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และปี 2579 เราจะมีรถ EV วิ่งบนถนนประเทศไทย 1.2 ล้านคัน!
25 พ.ย. 2567
6 ธ.ค. 2567
2 ธ.ค. 2567
27 พ.ย. 2567