โรงไฟฟ้าแม่เมาะในวันนี้ แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยว

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  13286 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรงไฟฟ้าแม่เมาะในวันนี้ แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยว

 


ทำไมโรงไฟฟ้าแม่เมาะจึงเปลี่ยนไป กว่า 40 ปี ภาพของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนโดยใช้ถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ที่ผ่านมาจะมีคำถามถึงโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ในเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านี้ได้ก่อมลพิษ ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนบริเวณโดยรอบ ในณะที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะก็เป็นโรงไฟฟ้าหลักในภาคเหนือ ที่สร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ช่วยให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้มายาวนาน

เพราะมีความตระหนักถึงปัญหามลพิษ และมีความห่วงใยในชุมชนบริเวณโดยรอบ ประกอบกับความสำคัญของโรงไฟฟ้าที่เป็นโรงไฟฟ้าหลักในการผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะในปัจจุบันจึงเป็นการฉายภาพการเปลี่ยนแปลงที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งใจที่จะทำให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นโรงไฟฟ้าของชุมชนอย่างแท้จริง โดยไม่ก่อมลพิษและยังช่วยให้ระบบไฟฟ้าทางภาคเหนือมีความมั่นคง

แม่เมาะในวันนี้ สามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม และมีเทศกาลสำคัญคือ “เทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ” ที่ถูกบรรจุอยู่ในปฏิทินการท่องเที่ยวประจำปี และทุกปีจะเป็นสัญลักษณ์แห่งการเยี่ยมเยือนเมืองลำปาง

คุณรู้หรือไม่กว่าจะมาถึงวันนี้ กฟผ. จะต้องผ่านไรมาบ้าง วันนี้เราจะมาย้อนรอยโรงไฟฟ้าแม่เมาะกัน

โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ได้กำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2515 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะ จำนวน 3 หน่วย กำลังการผลิตหน่วยละ 75,000 กิโลวัตต์ พร้อมกับงานขยายเหมืองแม่เมาะ เพื่อเพิ่มกำลังผลิตจากที่เคยผลิตได้วันละแสนกว่าตันเป็นล้านตัน จนถึงปัจจุบัน กฟผ. ได้ก่อสร้างและติดตั้งหน่วยผลิตไฟฟ้าเสร็จใช้งานแล้ว 13 หน่วย

โรงไฟฟ้าแม่เมาะทั้งหมด 13 เครื่อง มีกำลังผลิตรวม 2,625 เมกะวัตต์ แต่บางหน่วยมีการผลิตมายาวนานจึงได้มีการหยุดเดินเครื่อง โรงไฟฟ้า เครื่องที่ 1 และ 2 ได้หยุดเดินเครื่องตั้งแต่ 1 มีนาคม 2543 และเครื่องที่ 3 หยุดเดินเครื่องตั้งแต่ 13 กันยายน 2542 ปัจจุบันมีการเดินโรงไฟฟ้า เครื่องที่ 4-13 จำนวน 2,400 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าสำหรับภาคเหนือ 50% ภาคกลาง 30% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20% ใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื่อเพลิงปีละประมาณ 16 ล้านตัน

กฟผ.มีความใส่ใจเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา เพื่อควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากโครงการฯ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) ในปี 2533 กฟผ. ได้วางแผนให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 12-13 มีระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Flue Gas Desulfurization System - FGD) โดยให้ติดตั้งระบบ FGD พร้อมกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2538 ขณะเดียวกันได้ศึกษาความเหมาะสมในการติดตั้ง FGD สำหรับโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องอื่น ๆ ที่ได้เดินเครื่องจ่ายไฟเข้าระบบแล้ว ทำให้ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ติดตั้ง FGD ในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-13 ทั้งหมดแล้ว

นอกจากนี้ กฟผ. มีนโยบายปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดยการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้า เครื่องที่ 4-7 ซึ่งมีอายุการใช้งานครบ 25 ปี โรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้มีกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ และจะปล่อยสารก่อมลพิษน้อยกว่าโรงไฟฟ้า เครื่องที่ 4-7 ในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะเข้าระบบเชิงพาณิชย์ใน ต้นปีหน้า

กฟผ. ยังเตรียมทำแผนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่แทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8-9 ที่มีกำลังการผลิต 650 เมกะวัตต์ ซึ่งจะหมดอายุลงปี 2563 ขณะที่ปริมาณสำรองเหมืองถ่านหินลิกไนต์แม่เมาะลดในอนาคต ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าลดเหลือ 1,250 เมกะวัตต์ แต่เป็นการสร้างเพื่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าในภาคเหนือ โดยจะตั้งอยู่ในพื้นที่เดิม แต่ต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงพลังงานจะเห็นชอบแนวทางดังกล่าวหรือไม่

ส่วนเครื่องที่ 10-13 กำลังผลิตรวม 1,200 เมกะวัตต์ จะทยอยหมดอายุปี 2564-2568 ในส่วนกำลังหน่วยที่ 10-13 นี้ ไม่สามารถสร้างทดแทนได้ เนื่องจากปริมาณถ่านหินที่ลดน้อยลง โดยปริมาณถ่านหินสำรองในเหมืองแม่เมาะเหลือประมาณ 300-400 ล้านตัน ขณะที่มีการใช้ถ่านหินแม่เมาะเฉลี่ยปีละ 16 ล้านตัน หากกระทรวงพลังงานเห็นชอบสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ เครื่องที่ 8-9 กำลังผลิตไฟฟ้าก็จะเหลือในอนาคตประมาณ 1,250 เมกะวัตต์ และใช้ถ่านหินลดลงเหลือ 8 ล้านตันต่อปี สามารถใช้ป้อนโรงไฟฟ้าได้ตลอดอายุโรงไฟฟ้า 30 ปี

กฟผ. ไม่เพียงแต่พยายามปรับปรุงโรงไฟฟ้าแม่เมาะให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่ กฟผ. ยังนำเสนอสิ่งที่จะพิสูจน์ว่าสภาพแวดล้อมของแม่เมาะได้เปลี่ยนไปมาก โดยการจัดงาน “เทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ” ซึ่งได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และจังหวัดลำปาง ล่าสุดดำเนินมาถึง ครั้งที่ 14 ทำให้แม่เมาะกลายเป็นแลนด์มาร์คของคนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมเยือน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนแม่เมาะมากขึ้นเรื่อย ๆ

“เทศการท่องเที่ยวแม่เมาะ” เป็นงานเทศกาลที่สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อมอบความสุข ความสนุกสนาน และความบันเทิง ให้กับประชาชนทั้งในชุมชนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ ตลอดจนถึงนักท่องเที่ยวจากต่างพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชน และเพื่อเชิญชวนให้ทุกคนได้มาเที่ยวชมโรงไฟฟ้า มาร่วมกันพิสูจน์สัมผัสถึงอากาศอันบริสุทธิ์ภายในพื้นที่โรงไฟฟ้า รวมถึงในพื้นที่เหมืองลิกไนต์แม่เมาะ

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของ กฟผ. ที่จะทำให้โรงไฟฟ้าสามารถอยู่คู่กับชุมชนได้อย่างมีความสุข ตระหนักถึงผลกระทบในด้านต่าง ๆ และเดินหน้าแก้ไขอย่างต่อเนื่อง จนวันนี้โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ได้เปลี่ยนไปแล้ว และยังกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่หลายๆ คนต้องการเดินทางไปเยือน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้