50 ปี สองประสานพลังงานไทย-ลาว ผลักดันไฟฟ้าสู่อาเซียน

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  1572 จำนวนผู้เข้าชม  | 

50 ปี สองประสานพลังงานไทย-ลาว ผลักดันไฟฟ้าสู่อาเซียน

50 ปี สองประสานพลังงานไทย-ลาว ผลักดันไฟฟ้าสู่อาเซียน

นับจากวันที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากฝั่งไทย (จ.หนองคาย) ข้ามไปยังฝั่งลาว (นครหลวง เวียงจันทน์) ร่วมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าชีวิตศรีสว่างวัฒนา แห่งราชอาณาจักรลาว ณ แพปะรำพิธีกลางแม่น้ำโขง จ.หนองคาย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2511 นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้มีการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าระหว่างประเทศ

จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว ที่ประเทศไทย และ สปป. ลาว มีความร่วมมือทางด้านพลังงาน ทั้งการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า การพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้า การซื้อขายไฟฟ้า การแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านเทคนิควิชาการ และการพัฒนาบุคลากรระหว่างการไฟฟ้าของทั้งสองประเทศ

ย้อนประวัติศาสตร์ด้านพลังงานระหว่างประเทศไทย กับ สปป.ลาว เริ่มจากประเทศไทยได้ก่อสร้างเขื่อนอุบลรัตน์แล้วเสร็จในปี 2509 ขณะเดียวกัน สปป.ลาว ได้เริ่มก่อสร้างเขื่อนน้ำงึม ซึ่งเป็นโครงการเขื่อนอเนกประสงค์ที่สามารถกักเก็บน้ำได้ 8 พันล้านลูกบาศก์เมตร และผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้ 155 เมกะวัตต์ แต่ สปป.ลาว ขาดแคลนไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการก่อสร้างเขื่อนน้ำงึม รัฐบาลไทยจึงให้ความช่วยเหลือในรูปแบบสินเชื่อ โดยสนับสนุนไฟฟ้าและปูนซิเมนต์ในการก่อสร้าง ซึ่ง สปป.ลาว จะคืนผลตอบแทนโดยขายไฟฟ้าที่เหลือใช้ภายใน สปป.ลาว ให้กับไทยในราคาที่เหมาะสม

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เริ่มส่งไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างเขื่อนน้ำงึม 1 ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2511 ถึง 10 พฤศจิกายน 2514 ต่อมาเขื่อนน้ำงึมก่อสร้างเสร็จเริ่มเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้ากลับคืนมายังประเทศไทยเพื่อชำระหนี้คืนให้ กฟผ. ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2514 ถึง 31 สิงหาคม 2517 หลังการชำระหนี้สิ้นสุดลง กฟผ.ได้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการน้ำงึม 1 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2517 จากนั้นในปี 2530 กฟผ. ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนเซเสด กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (ฟฟล.) และก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าขนาด 115 กิโลโวลต์ จากเขื่อนสิรินธรไปยังจุดรับซื้อที่ชายแดน และเริ่มรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเซเสด 1 ตั้งแต่ปี 2534 หลังจากนั้น ก็มีอีกหลายโครงการที่ขายไฟฟ้ามายังประเทศไทย เช่น โครงการน้ำลึก, โครงการเซเสด 2, โครงการห้วยลำพันใหญ่, โครงการเทิน-หินบุน, โครงการห้วยเฮาะ, โครงการน้ำงึม 2, โครงการหงสา เป็นต้น

รัฐบาลไทย และ สปป.ลาว มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้าในลาว จำนวน 5 ฉบับ ตั้งแต่ปี 2536 โดยเริ่มการรับซื้อไฟฟ้า จำนวน 1,500 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีการขยายการรับซื้อไฟฟ้า เป็น 9,000 เมกะวัตต์ มีการเชื่อมโยงสายส่งระหว่างสองประเทศถึง 12 จุด เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจาก ฟฟล. และผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระใน สปป.ลาว

นอกจาก กฟผ. แล้ว บริษัทในกลุ่ม กฟผ. ได้มีการลงทุนใน สปป.ลาว หลายโครงการ โดยบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป มีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำเทิน 2 มีกำลังการผลิต 1,070 เมกะวัตต์ ได้เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2553 และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 2 โครงการ คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี กำลังการผลิต 1,280 เมกะวัตต์ จะเดินเครื่องในปลายปี 2562 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำเทิน 1 กำลังการผลิต 644 เมกะวัตต์ จะเดินเครื่องกลางปี 2565

ส่วนบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) มีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 กำลังการผลิต 615 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน หงสา กำลังการผลิต 1,878 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งสองโครงการเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว และมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เซเปียน-เซน้ำน้อย กำลังการผลิต 410 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ที่ลงทุนผ่าน EDL-Gen ซึ่งมีกำลังการผลิต 1,137 เมกะวัตต์

และสุดท้ายการลงทุนผ่าน บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำเงี๊ยบ 1 กำลังการผลิต 289 เมกะวัตต์ ที่จะจ่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ปี 2562

ความร่วมมือของทั้งสองประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างดี โดยผ่านการเชื่อมโยงสายส่งที่มีประสิทธิภาพระหว่างกัน ทำให้มีการพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายระบบไฟฟ้าในอาเซียน (ASEAN Power Grid) โดยมีโครงการซื้อขายไฟฟ้า สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย โดย สปป.ลาว ขายไฟฟ้าให้มาเลเซียผ่านระบบส่งไฟฟ้าของไทยไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ เริ่มนำร่องตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 และภายหลังจากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 36 (AMEM) เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สปป.ลาว – ไทย – มาเลเซีย ได้ตกลงขยายกรอบความร่วมมือพหุภาคีโครงการซื้อขายไฟฟ้า โดยจะเพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก 100 เมกะวัตต์ เป็น 300 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า 4 ประเทศ จาก สปป.ลาว ไปสิงคโปร์ โดยผ่านระบบสายส่งของไทยและมาเลเซีย นับเป็นก้าวสำคัญของการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาคนี้สามารถพึ่งพากันได้ในด้านพลังงาน

“50 ปี สายส่งไทย-ลาว จึงเป็น 50 ปี แห่งความมั่งคงไฟฟ้าจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้