RATCH ตั้งเป้าลงทุน 2 หมื่นล้านบาทปีนี้

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  1031 จำนวนผู้เข้าชม  | 

RATCH ตั้งเป้าลงทุน 2 หมื่นล้านบาทปีนี้

RATCH ตั้งเป้าลงทุน 2 หมื่นล้านบาทปีนี้


ราชบุรี ตั้งเป้าลงทุน 2 หมื่นล้านบาทปีนี้ ทั้งโครงการใหม่ และโครงการต่อเนื่อง พร้อมเสนอตัวสร้างโรงไฟฟ้าไอพีพีภาคตะวันตก ที่จะต้องสรุปภายในปีนี้ รุกลงทุนต่างประเทศและในประเทศ ทั้งเชื้อเพลิงหลัก และพลังงานทดแทน รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้า ส่วนผลประกอบการปี 2561 กำไรสุทธิลดลง 7.5%

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH กล่าวว่า ในปีนี้ตั้งเป้าจะมีการลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ลงทุนในโครงการเดิม 6 พันล้านบาท และโครงการใหม่ 1-2 หมื่นล้านบาท ซึ่งโครงการเดิมประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ใน สปป.ลาว โครงการนิวเคลียร์ฟังเซงกัง ที่จีน โครงการผลิตน้ำประปาแสนดิน ใน สปป.ลาว และโครงการ RIAU ส่วนโครงการให้จะเป็นการซื้อโครงการ (M&A) ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ และการซื้อหุ้นในโครงการที่มีการผลิตอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้เจรจาอยู่หลายโครงการ กำลังการผลิตประมาณ 200-300 เมกะวัตต์ และคาดว่าภายในไตรมาส 1-2 จะมีความชัดเจน

บริษัทสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่อยู่ในฝั่งตะวันตก ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (พีดีพี 2018) กำหนดให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 700-1,400 เมกะวัตต์ เพื่อสร้างทดแทนโรงไฟฟ้าใน จังหวัดราชบุรี ที่จะทยอยหมดสัญญาในอนาคต ซึ่งคาดว่ากระทรวงพลังงานจะต้องสรุปภายในปีนี้ หากต้องการให้โรงไฟฟ้าก่อสร้างเสร็จในปี 2567-2568 โดยจะมีการเปิดประมูลหรือการต่ออายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าราชบุรี และไตรเอนเนอร์จี้ หรือจะให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนใหม่ในพื้นที่เดิม ซึ่งราชบุรีพร้อมเข้าร่วมทุกรูปแบบ เพราะมีความพร้อมและมีพื้นที่ก่อสร้าง และมีระบบสาธารณูปโภครองรับพร้อมแล้ว

บริษัทฯ ยังสนใจที่จะร่วมลงทุนกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในโครงการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในเขื่อน (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) และยังสนใจที่จะลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใน สปป.ลาว เพราะยังมีการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มอีก 3,500 เมกะวัตต์

ส่วนการลงทุนในต่างประเทศ ก็จะเน้นที่อาเซียน และออสเตรเลีย โดยพันธมิตรอย่าง Medco ที่อินโดนีเซีย ก็ยังได้เชิญบริษัทฯ เข้าไปศึกษาลู่ทางการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในอินโดนีเซียเพิ่มเติมด้วย ส่วนที่เมียนมายังเป็นการศึกษาโอกาสการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า

สำหรับการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า ที่ผ่านมามีการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ซึ่งในปีนี้ก็คาดว่าจะมีการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก บริษัทฯ ก็สนใจเข้าร่วมประมูลกับกลุ่ม BTS

ในช่วงปี 2562-2564 มีแผนที่จะจ่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) อีก 775.87 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตที่ COD แล้ว 6,863.25 เมกะวัตต์ โดยในปี 2561 จะมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและจะทยอย COD ตามสัดส่วนการลงทุน คือ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียน- เซน้ำน้อย กำลังการผลิต 102.5 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น กำลังการผลิต 34.73 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คอลลินส์วิลล์ กำลังการผลิต 42.5 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมนวนคร เฟส 2 กำลังการผลิต 23.99 เมกะวัตต์ จะ COD ในปี 2563 และในปี 2564 จะ COD โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม Riau ที่อินโดนีเซีย กำลังการผลิต 145.15 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกังที่จีน กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 236 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศออสเตรเลีย 42.50 เมกะวัตต์ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง-สายสีชมพู เทียบเท่ากำลังการผลิตติดตั้ง 191 เมกะวัตต์

ส่วนผลประกอบการปี 2561 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 5,587.60 ล้านบาท ลดลง 7.5% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 ซึ่งมีกำไร 6,038.55 ล้านบาท หากไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไร 6,452.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5%

โดยมีปัจจัยสำคัญที่มากระทบ ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยนของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ปี 2561 บริษัทฯ รับรู้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 865.02 ล้านบาท สาเหตุหลัก เนื่องจากรายการเงินให้กู้ยืมแก่กิจการในกลุ่มบริษัทฯ ในสกุลเงินดอลล่าร์ออสเตรเลีย ซึ่งเมื่อสกุลเงินดอลล่าร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ส่งผลใหสินทรัพย์สกุลเงินดอลล่าร์ออสเตรเลียมีมูลค่าลดลง ขณะที่เมื่อปี 2560 บริษัทฯ รับรู้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 452.47 ล้านบาท สาเหตุหลักเนื่องจากสกุลเงินดอลล่าร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ส่งผลให้สินทรัพย์สกุลเงินดอลล่าร์ออสเตรเลียมีมูลค่ามากขึ้น

ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า ปี 2561 จำนวน 4,735.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 (3,595.40 ลานบาท) เป็นจำนวน 1,140.07 ล้านบาท คิดเป็น 31.7% โดยมีสาเหตุหลัก ดังนี้ 1.บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด มีกำไรตามสัดส่วนการลงทุน 40% เพิ่มขึ้น 1,046.60 ล้านบาท เพราะโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้มากกว่างวดเดียวกันของปีก่อน 2.บริษัท เซาท์อีสท์เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด มีกำไรตามสัดส่วนการลงทุน 33.33% เพิ่มขึ้น 158.21 ล้านบาท เพราะในปี 2561 ปริมาณน้ำในเขื่อน น้ำงึม 2 มากกว่าปีก่อน ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น

3.ต้นทุนขายและการให้บริการ (ไม่รวมค่าเชื้อเพลิง) 30,302.81 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 4,867.28 ล้านบาท ลดลงจากต้นทุนขายและการให้บริการ (ไม่รวมค่าเชื้อเพลิง 31,344.26 ล้านบาท) ปี 2560 จำนวน 5,503.11 ล้านบาท เป็นจำนวน 635.83 ล้านบาท คิดเป็น 11.6% โดยมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนขายของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ลดลง 498.76 ล้านบาท เพราะในปี 2561 มีการซ่อมบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าตามแผนน้อยกว่าปี 2560

4.ต้นทุนทางการเงินปี 2561 จำนวน 1,014.89 ล้านบาท ลดลงจากปี 2560 (1,587.25 ล้านบาท) เป็นจำนวน 572.36 ล้านบาท คิดเป็น 36.1% โดยต้นทุนทางการเงินที่ลดลง 485.68 ล้านบาท เป็นผลมาจากการรับรู้กำไรจากการเปลี่ยนแปลงในมูลค่ายุติธรรมของการป้องกันความเสี่ยงกระแสเงินสดของ กลุ่มบริษัทฯ ตามนโยบายการบัญชีเรื่องเครื่องมือทางการเงินที่เป็นตราสารอนุพันธ์ และการบัญชีป้องกันความเสี่ยง

5.รายได้จากการขายและการหับริการ (ไม่รวมค่าเชื้อเพลิง) 30,302.81 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 5,881.33 ล้านบาท ลดลงจากรายได้จากการขายและการให้บริการ (ไม่รวมค่าเชื้อเพลิง 31,344.26 ล้านบาท) ปี 2560 จำนวน 6,656.26 ล้านบาท เป็นจำนวน 774.93 ล้านบาท คิดเป็น 11.6% เพราะรายได้จากการขายไฟฟ้าของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ลดลง 638.05 ล้านบาท เพราะโรงไฟฟ้ามีอัตราค่าความพร้อมจ่ายปี 2561 น้อยกว่าปี 2560 ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

6.รายได้ตามสัญญาเช่าการเงินปี 2561 จำนวน 3,335.81 ล้านบาท ลดลงจากปี 2560 (3,995.45 ล้านบาท) เป็น 659.64 ล้านบาท คิดเป็น 16.5% เนื่องจากการบันทึกบัญชีลูกหนี้ตามสัญญาเช่าการเงิน ตามวิธีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง 11,934 ล้านบาท ในโครงการโรงไฟฟ้า 4 โครงการ และสาธารณูปโภค 1 โครงการ โดยซื้อหุ้นใน RAC เป็น 100% ซึ่งลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ออสเตรเลีย กำลังการผลิตรวม 873.55 ล้านบาท ร่วมลงทุนในบริษัท Fareast Renewable Development PTE. LTD. สัดส่วน 50% เพื่อลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำอาซาฮาน-1 กำลังการผลิตติดตั้ง 180 เมกะวัตต์ ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำในโรงผลิตไฟฟ้านวนครส่วนขยาย โดยเข้าไปถือหุ้น 40%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้