กลุ่ม ปตท. ทุ่มงบ 2.64 แสนล้านบาท ลงทุนใน EEC

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  540 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กลุ่ม ปตท. ทุ่มงบ 2.64 แสนล้านบาท ลงทุนใน EEC

กลุ่ม ปตท. ทุ่มงบ 2.64 แสนล้านบาท ลงทุนใน EEC

 

 

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.เตรียมงบลงทุนประมาณ 2.64 แสนล้านบาท ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 21 ก.พ.62 ได้อนุมัติให้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใน EECi ในวงเงินประมาณ 2.5 พันล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาล ทั้งโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ,โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่กลุ่ม ปตท.สนใจเข้าร่วมลงทุน

ส่วนการลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส3 และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายเรื่องที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยปตท.มี 3 แนวทางคือ เข้าร่วมประมูล ไม่ร่วมประมูล หรือรอเพื่อเจรจาร่วมทุนกับผู้ที่ชนะประมูล ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 กลุ่มปตท.เข้าร่วมประมูลแน่นอน โดยได้เลือกที่จะร่วมทุนกับกลุ่มกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ เนื่องจากกัลฟ์เป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไอพีพี 2โรงรวม 5พันเมกะวัตต์ ทำให้มีความต้องการใช้ก๊าซฯจำนวนมาก และโครงการมาบตาพุด เฟส 3 เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน(PPP)ที่รัฐอยากให้เอกชนลงทุน ซึ่งปตท.เองก็มีการลงทุนคลังLNGอยู่แล้ว 2แห่งรองรับการนำเข้า 19 ล้านตันต่อปีในอนาคต เพียงพอป้อนความต้องการใช้ก๊าซฯในการผลิตไฟฟ้าตามแผนPDP 2018 ดังนั้นการร่วมทุนดังกล่าวจึงให้กัลฟ์ถือหุ้นใหญ่ 70% และปตท. 30%

สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของกลุ่ม ปตท.จะทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 63-66 ได้แก่ โครงการ EECi ที่มีกรอบวงเงินลงทุน 4.1 พันล้านบาท, ท่อส่งก๊าซฯเส้นที่ 5 มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท, การขายท่อส่งก๊าซฯไปยังพื้นที่ EECi, คลัง LNG, การขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์, โครงการพลังงานสะอาด (CFP) ที่จะเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันของ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) วงเงิน 1.29 แสนล้านบาท, การสร้างโรงงานพาราไซลีนของ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC), โครงการ Utra Clean Fuel Project เพื่อรองรับการประกาศใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐาน Euro V ของ IRPC เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ปตท.มีการนำเข้า LNG ประมาณ 5 ล้านตัน/ปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปีนี้ จากความต้องการใช้ก๊าซฯที่เติบโตไม่ถึง 1% ในปีนี้ เนื่องจากมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้น ซึ่งการนำเข้าปัจจุบันยังเป็นไปตามสัญญาระยะยาวที่มีอยู่กับทั้งเชลล์, บีพี, การ์ต้า และปิโตรนาส แต่ยังมองโอกาสการจัดหาเข้ามาเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงโครงการโมซัมบิกด้วย แต่ปัจจุบัน ปตท.จะยังไม่ตัดสินใจซื้อ LNG จากแหล่งโมซัมบิกในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากต้องรอดูการใช้ก๊าซฯในระยะยาวด้วยเพราะการซื้อขายก๊าซฯจะเป็นข้อผูกพันระยะยาว

สำหรับภาพธุรกิจของ ปตท.ในปีนี้ มองว่าแนวโน้มราคาก๊าซฯจะทรงตัวถึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ราคาปิโตรเคมียังต้องจับตาปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แต่ที่ผ่านมา ปตท.ได้ปรับตัวโดยการลดการส่งออกไปจีนเหลือ 30-40% จากเดิมที่ 50-60% และหันมากระจายไปยังกลุ่มประเทศอื่น อย่าง ตะวันออกกลาง ,แอฟริกา เป็นต้น

ด้านธุรกิจโรงกลั่นของกลุ่มปตท.ในปีนี้ ได้ปัจจัยบวกจากกรณีที่องค์การทางเรือระหว่างประเทศ (IMO) ควบคุมระดับกำมะถันในน้ำมันเตาที่ใช้ในอุตสาหกรรมเดินเรือ ทำให้มีการใช้น้ำมันดีเซลมาผสมเพื่อให้ได้มาตรฐาน และจะมีส่วนเกินน้ำมันเบนซินในตลาดขึ้น ทำให้ส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินและน้ำมันดิบลดลงเหลือ 3-4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมที่เคยสูงกว่า 10 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ในส่วนของโรงกลั่นกลุ่ม ปตท. ส่วนใหญ่มีการผลิตดีเซลมากกว่าทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ขณะเดียวกันกรณีดังกล่าวก็จะกระทบต่อราคาพาราไซลีน (PX) ให้ลดลงด้วยเช่นกัน

สำหรับผลการดำเนินงานของ ปตท. ปี 2561 มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 1.4 ล้านล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงาน 59,160 ล้านบาท และเมื่อรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่ม ส่งผลให้ ปตท.และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 2.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 17 และมีกำไรสุทธิ 119,684 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 11 คิดเป็นกำไร 4.15 บาทต่อหุ้น

ด้านนางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ปตท. กล่าวว่า ถึงแม้ว่าในปีนี้ ปตท.มีแผนใช้เงินลงทุนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท แต่ยังไม่จำเป็นต้องระดมเงินทุนใหม่เพิ่มเติม เนื่องจากมีเงินสดในมืออยู่ประมาณ 1.3-1.4 แสนล้านบาท โดยมีแผนใช้เงิน ได้แก่ การจ่ายภาษีกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR 1.6 หมื่นล้านบาท, ชำระคืนเงินกู้ครบกำหนด 2.6 หมื่นล้านบาท, การลงทุนตามปกติ 3 หมื่นล้านบาท ,จ่ายเงินปันผล 5 หมื่นล้านบาท และเตรียมสำรองไว้สำหรับการเพิ่มทุนของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC หากจะเข้าซื้อกิจการ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW แต่หาก ปตท.มีการลงทุนขนาดใหญ่เพิ่มเติมก็อาจจะต้องมีการระดมเงินทุน ส่วนการนำหุ้น PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยังอยู่ในกระบวนการ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้