GGC จับมือก่อสร้าง นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  1148 จำนวนผู้เข้าชม  | 

GGC จับมือก่อสร้าง นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์

GGC จับมือกรุงไทย ลงนามสัญญาเงินกู้
ก่อสร้าง “นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์” ร่วมกับกลุ่ม KTIS
สานฝัน Bioeconomy สำเร็จแห่งแรกในไทย

พิธีลงนามสัญญาเงินกู้เพื่อการก่อสร้างโครงการ “นครสวรรคไบโอคอมเพล็กซ์” ระหว่างกลุ่มบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม GGC กลุ่มบริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานกรรมการกลุ่ม GGC และ นายปรีชา อรรถวิภัชน์ ประธานกรรมการกลุ่ม KTIS ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีฯ พร้อมด้วยผู้บริหารจาก KTB คือ นายเอกชัย เตชะวิริยะกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ 1 ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร

นายเสกสรร อาตมางกูร กรรมการผู้จัดการ GGC ได้เปิดเผยว่า หลังจากศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนก่อสร้างโครงการ “นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์” (Nakhon Sawan Biocomplex) หรือ NBC ร่วมกับ KTIS มาระยะหนึ่ง ขณะนี้คณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติให้ลงทุนก่อสร้าง NBC เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้จัดตั้งบริษัท จีจีซี ไบโอเคมิคอล จำกัด หรือ GGC Bio ซึ่ง GGC ถือหุ้นร้อยละ 100 เพื่อใช้ร่วมทุนกับกลุ่ม KTIS ใช้เงินลงทุนก่อสร้างไม่เกิน 7,500 ล้านบาท (เจ็ดพันห้าร้อยล้านบาทถ้วน) โดยเป็นเงินทุนจากการกู้ 5,200 ล้านบาท (ห้าพันสองร้อยล้านบาทถ้วน) และส่วนที่เหลือมาจากเงินทุนของกลุ่ม GGC และกลุ่ม KTIS โดย NBC ถือเป็นไบโอคอมเพล็กซ์และ Bio Hub ครบวงจรแห่งแรกของไทย และนับเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนพฤษภาคม 2562 และดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564

นายเสกสรรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์นี้ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นโครงการก่อสร้างโรงหีบอ้อย มีกำลังการผลิต 24,000 ตันต่อวัน โครงการก่อสร้างโรงผลิตเอทานอลมีกำลังการผลิต 600,000 ลิตรต่อวัน (หรือราว 186 ล้านลิตรต่อปี) และโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ มีกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 475 ตันต่อชั่วโมง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลงทุนต่อยอดการผลิตเคมีภัณฑ์และพลาสติกชีวภาพในระยะที่ 2 ด้วย โดยในระยะที่ 2 นี้ ได้มีการศึกษา Cellulosic Technology ร่วมกับพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่งเป็นการนำชานอ้อยมาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ หรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การก่อสร้างโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์เป็นหนึ่งในการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์การดำเนินโครงการเพื่อการเติบโตในธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Growth Strategy ของบริษัทฯ ซึ่งสอดรับกับนโยบายโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพหรือ Bioeconomy ของภาครัฐ กอปรกับการที่รัฐบาลได้อนุมัติสิทธิประโยชน์และข้อกำหนดต่างๆ ทำให้กลุ่ม GGC เป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น พร้อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างมหาศาล ทั้งในด้านเศรษฐกิจ คือ สร้างงานให้เกษตรกรในพื้นที่ สร้างงานจากโรงงานเอทานอลได้มากกว่า 400 คน สร้างรายได้จากอ้อย สร้างพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 240,000 ไร่ ทดแทนพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งลดปริมาณการใช้น้ำถึง ร้อยละ 30 ด้านสังคม คือ สร้างองค์ความรู้ต่างๆ แก่คนในพื้นที่จากการนำเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่มาใช้ ลดการย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาตำแหน่งงานในเมืองใหญ่ นำมาซึ่งความเจริญต่างๆ สู่ท้องถิ่นทั้งทางตรงและทางอ้อม และสุดท้าย ด้านสิ่งแวดล้อม คือ การสร้างโรงงานเอทานอล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ระยะที่ 1 ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่ลดการปล่อยน้ำเสีย รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในการใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะช่วยลดฝุ่นควันและมลพิษจากการเผาอ้อยที่เกิดจากการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งสามารถตัดอ้อยได้ถึง 300-400 ตันต่อวันและมีการรับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริมของโครงการ พร้อมส่งเสริมการใช้ใบอ้อยที่มีสารอาหารไปทำปุ๋ยด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้