กฟผ. มุ่งพัฒนา Grid Modernization เพื่อดูแลระบบไฟฟ้า

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  2432 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กฟผ. มุ่งพัฒนา Grid Modernization เพื่อดูแลระบบไฟฟ้า

กฟผ. มุ่งพัฒนา Grid Modernization เพื่อดูแลระบบไฟฟ้า


นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนา กฟผ. ครบรอบ 50 ปี ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ภายใต้แนวคิด “50 ปี กฟผ. เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของคนไทย” ณ สำนักงานใหญ่ กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

นายวิบูลย์ กล่าวว่า 50 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าอย่างเพียงพอและทั่วถึงจากกำลังผลิตติดตั้ง 907 เมกะวัตต์ ในปี 2512 จนถึงปัจจุบัน กฟผ. ครบรอบวันสถาปนา 50 ปี ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 นี้ ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศ 54,816 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าของ กฟผ. 14,566 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 27 ของกำลังผลิตรวมทั้งประเทศ ในส่วนด้านระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. ได้พัฒนาระบบส่งเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประเทศในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงรองรับการพัฒนาพลังงานทดแทน ปัจจุบันสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. มีความยาวทั้งสิ้น 35,088.156 วงจร-กิโลเมตร สถานีไฟฟ้าแรงสูงรวม 228 สถานี (ข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน2562)

สำหรับทิศทางการดำเนินการในอนาคต กฟผ. พร้อมรับมือเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้รองรับกับสถานการณ์พลังงานและพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยจะพัฒนา Grid Modernization เพื่อดูแลระบบไฟฟ้าให้สามารถรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะมีเพิ่มขึ้น เพื่อให้พลังงานไฟฟ้า ในอนาคตเป็นพลังงานสีเขียวโดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เช่น การปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) เพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักได้อย่างทันท่วงทีเมื่อพลังงานหมุนเวียนหายไป มีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped Storage) และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) นำร่อง 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และ สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี มีระบบการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า มีระบบส่งไฟฟ้าที่สื่อสารข้อมูลกับระบบไฟฟ้าอัจฉริยะได้ และมีระบบการพยากรณ์และควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Forecast Center) เป็นต้น

นอกจากนี้ กฟผ. จะพัฒนาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. สู่การเป็นโรงไฟฟ้าดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสูง แม่นยำ ควบคุมและสั่งการผ่านระบบดิจิทัล มีระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ข้อมูลทั้งหมดถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ระบบ AI วิเคราะห์และประมวลผลการทำงาน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการควบคุมโรงไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้โรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพและมีความพร้อมจ่ายสูง โดยเริ่มที่โรงไฟฟ้าพระนครเหนือและโรงไฟฟ้าจะนะ รวมทั้ง กฟผ. ยังได้ร่วมมือกับ กฟภ. และ กฟน. จัดทำ National Energy Trading Platform (NETP) เพื่อรวบรวมข้อมูลการซื้อขายไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่ง กฟผ. จะเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการข้อมูลของประเทศ

ด้านระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. มุ่งพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ขยายขอบเขตการแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานในระดับภูมิภาค (Grid Connectivity) พร้อมผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Power Grid) โดยในระยะแรกมีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศแบบพหุภาคีและมัลติ (Multilateral Power Trade) เช่น ลาว ไทย มาเลเซีย จะมีการเพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าระหว่าง 3 ประเทศ สปป.ลาว ไทย และมาเลเซีย (LTM) จาก 100 เมกะวัตต์ เป็น 300 เมกะวัตต์ และจะขยายผลไป 4 ประเทศในอนาคต (LTMS) พร้อมทั้งมีการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก เชื่อมสายส่งระหว่าง สปป.ลาว ไทย เมียนมาร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีการพัฒนานวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าสู่รูปแบบใหม่ เป็นแบบ Hybrid เช่น ระบบ Wind Hydrogen Hybrid ซึ่งนำมาใช้ในโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2 บริเวณอ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา, โครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อน (Hydro -Floating Solar Hybrid) ซึ่งจะนำร่องติดตั้งที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ซึ่งนับเป็นโครงการไฮบริดแห่งแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นต้น ซึ่ง กฟผ. จะเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมเพิ่มเติมอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับพลังงานหมุนเวียน และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้