กกพ.ศึกษาโครงสร้างตลาดไฟฟ้า เตรียมพร้อมการเปิดเสรี

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  1750 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กกพ.ศึกษาโครงสร้างตลาดไฟฟ้า เตรียมพร้อมการเปิดเสรี

กกพ. ศึกษาตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ทำโครงการศึกษาโครงสร้างตลาดไฟฟ้า Peer-to-Peer Energy Trading เพื่อเตรียมพร้อมการเปิดเสรีกิจการไฟฟ้าในอนาคต

นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า กกพ. ได้จัดทำโครงการศึกษาโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เช่น Peer-to-Peer Energy Trading ซึ่งจะเป็นการผลักดันการเพิ่มการแข่งขัน และเตรียมความพร้อมในการเปิดเสรีกิจการไฟฟ้า เนื่องจากในปัจจุบันกระแสเทคโนโลยีด้านพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป (Disruptive Technology) ทำให้รูปแบบการผลิต และการใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องเตรียมพร้อมในทุกภาคส่วนเพื่อรับกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ กกพ.ยังได้ออกประกาศเชิญชวนเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (Energy Regulatory Commission Sandbox: ERC Sandbox) ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว โดยโครงการ ERC Sandbox กกพ. ชุดปัจจุบันต้องการผลักดันกลไกการกำกับนโยบาย และการกำกับกิจการพลังงานเชิงรุกแบบนำหน้าเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แทนการกำกับกิจการพลังงานแบบตามหลัง ซึ่งทำให้ไม่ทันต่อเหตุการณ์และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และมุ่งสนับสนุนทิศทางการเพิ่มการแข่งขันที่เป็นธรรม รองรับทิศทางการส่งเสริมการแข่งขันของกิจการไฟฟ้าของประเทศ ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน

โดย ERC Sandbox ได้กำหนดประเภทของกิจกรรมและนวัตกรรมที่ผู้สมัครสามารถนำมาทดสอบใน ERC Sandbox ต้องเป็นธุรกรรมที่อยู่ในขอบเขตการกำกับดูแลของ กกพ. จำนวน 5 ประเภท ได้แก่ 1.ศึกษาโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ 2.ศึกษาโครงสร้างอัตราค่าบริการรูปแบบใหม่ 3.ศึกษาเทคโนโลยีใหม่ 4.ศึกษาการจัดการและการปฏิบัติการระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ และ 5.ศึกษารูปแบบกิจการธุรกิจใหม่ด้านพลังงาน

สำหรับผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือสถาบันการศึกษา ที่ประสงค์จะเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมทางด้านพลังงาน ซึ่งอาจเป็นนวัตกรรม ที่ไม่เคยมีหรือไม่เหมือนกับผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านพลังงานที่นำเสนออยู่แล้วในประเทศไทย หรือเป็นนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่ มาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการที่มีอยู่เดิม

โครงการดังกล่าว นอกจากจะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในงานกำกับ ดูแล ภาคพลังงานตั้งแต่ต้นทางแล้ว ยังจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ทางด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการทดสอบก่อนการใช้งานจริง เสริมสร้างประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการให้บริการทางด้านพลังงาน สามารถเสริมสร้าง ยกระดับ และร่วมกันพัฒนากลไก การกำกับ ดูแลภาคพลังงานให้เข็มแข็งได้อย่างต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้